6 หนทางสร้างคุณค่าของกิจการเพื่อสังคม

ผู้เขียน :แพรวา สาธุธรรม

อาจารย์และผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยโลกคดีศึกษา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สนับสนุนโดย :ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม   ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ใครที่กำลังสนใจจะสร้างกิจการเพื่อสังคม แต่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถสร้างกิจการที่ตอบโจทย์สังคมได้ทางใดบ้าง ลองมาทำความรู้จัก 6 วิธีการที่กิจการเพื่อสังคมใช้ในการสร้างและส่งมอบคุณค่าดีๆให้แก่สังคมกัน

วิธีที่ 1 การเป็นตัวกลาง (Market Intermediary): วิธีนี้กิจการทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อย สามารถเข้าถึงตลาดได้ดีขึ้น โดยกิจการจะรับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายย่อยที่มีรายได้น้อย เช่นเกษตรกรหรือช่างฝีมือท้องถิ่น แล้วขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงดี นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาและเพิ่มคุณค่าของสินค้าด้วย เช่นช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนาแบรนด์ และปรับปรุงหน้าตาบรรุภัณฑ์ให้โดนใจผู้ซื้อ ตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมที่ใช้โมเดลนี้คือ Folkcharm ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากฝ้ายธรรมชาติร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น ผสานเรื่องเล่าจากชุมชนในการพัฒนาแบรนดฺ์ และขายสินค้าฝีมือชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกัน

วิธีที่ 2 การช่วยเชื่อมตลาด (Market Linkage): กิจการช่วยเชื่อมให้ผู้ผลิตรายย่อยและผู้ซื้อในตลาดปกติให้มาเจอกันได้สะดวกขึ้น วิธีนี้แตกต่างจากการทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรงที่กิจการไม่ได้เป็นผู้ขายสินค้าจากผู้ผลิตให้ตลาดด้วยตัวเอง แต่เน้นการเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงให้ผู้ขายและผู้ซื้อมาเจอกัน ตัวอย่างเช่น โฟล์คไรซ์ ได้สร้างแพลทฟอร์มเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ทำเกตรกรรมแบบยั่งยืน เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในสังคมออนไลน์

วิธีที่ 3 การจ้างงานผู้ด้อยโอกาส (Employment Model) กิจการจ้างงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะให้แก่กลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการทำงาน อย่างกลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มผู้ที่เคยเป็นผู้ต้องขัง การพัฒนาทักษะความรู้ควบคู่ไปกับการทำงาน จะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีความสามารถติดตัวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้ในระยะยาว ตัวอย่างสำหรับโมเดลนี้ คือ SHE วิสาหกิจสุขภาพชุมชนที่ให้โอกาสสตรีที่เคยเป็นผู้ขังและสตรีที่พิการทางสายตา ให้เข้ามาฝึกทักษะและทำงานเป็นนักบำบัด (Therapist) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพคนเมืองในด้านต่างๆ

วิธีที่ 4 กลุ่มคนชายขอบเป็นเจ้าของ (Beneficiaries-owned Model) วิธีนี้ผู้ที่เป็นกลุ่มคนชายขอบ เช่น ชุมชนที่อยู่ห่างไกล กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ลุกขึ้นมาสร้างกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาของตนด้วยตนเอง เช่น กิจการ Try Arm แบรนด์ชุดชั้นในเพื่อการต่อสู้ จากฝีมือของอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจากบริษัทผลิตชุดชั้นใน เพื่อแก้ปัญหาการขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้างด้วยตนเอง

วิธีที่ 5 การมอบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์สังคม (Social Need Model) วิธีนี้เน้นการสร้างคุณค่าทางสังคมผ่านตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา ที่ช่วยให้สุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้นอย่าง Relationflip หรือ Sidekick Creative Agency ที่เน้นการสื่อสารและรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ อีกแบบหนึ่งคือสินค้าและบริการที่เน้นตอบโจทย์กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (Low-income client) หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสโดยเฉพาะ เช่น ผลิตภัณฑ์ เล่นเส้น ชุดวาดเขียนสำหรับเด็กตาบอดของกิจการกล่องดินสอ

วิธีที่ 6 การนำกำไรจากการขายสินค้าในตลาดทั่วไปมาอุดหนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (Cross Subsidization) เช่น Learn Education ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน โดยจัดสรรกำไรจากการให้บริการโรงเรียนที่มีฐานะ มาอุดหนุดการให้บริการแก่โรงเรียนชนบทห่างไกล ทำให้สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย

ในทางปฏิบัติ กิจการเพื่อสังคมสามารถผสานมากกว่าหนึ่งวิธีในการสร้างคุณค่าเข้าด้วยกัน อย่างเช่น กิจการเพื่อสังคม คนจับปลา ที่ทั้งช่วยเชื่อมสินค้าอาหารทะเลปลอดภัยจากชาวประมงพื้นบ้านไปสู่มือผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งยังให้ชาวประมงเข้ามาร่วมถือหุ้น จึงเข้าข่ายทั้งวิธีที่ให้ชุมชนหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเป็นเจ้าของ การช่วยเชื่อมตลาด และมอบสินค้าที่ตอบโจทย์สังคม ซึ่งก็คืออาหารทะเลปลอดภัยไร้สารฟอร์มาลีน เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัวเลยที่เดียว

ก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีการที่ใช่ ลองทำความเข้าใจปัญหาที่คุณอยากแก้ไขให้ลึกซึ้งก่อน ว่าโจทย์ที่แท้จริงคืออะไร กลุ่มคนที่คุณช่วยเหลือต้องการอะไร มีอุปสรรค และศักยภาพอะไร จากนั้นจึงค่อยออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ตรงใจ และตรงกับศักยภาพของคุณ และถ้า 6 วิธีนี้ยังไม่โดนใจ โลกอาจกำลังรอให้คุณสร้างสรรค์วิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมเราให้ดีขึ้นก็เป็นได้

ผู้เข้าชม  3019