วันคุ้มครองโลก (Earth Day)

วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513

 ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดวาตภัย หรืออุทกภัยอย่างฉับพลัน นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาโลก เช่นปัญหาการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก หรือ "Green House Effect" ปัญหาปริมาณโอโซนในบรรยากาศลดลง  หรือปัญหาพลังงานของโลกที่จะต้องหามาทดแทนการใช้น้ำมัน เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา วันคุ้มครองโลก (Earth Day)

วันคุ้มครองโลกนี้ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วยและได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายนพ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา

วันคุ้มครองโลก หรือ "Earth Day" ในประเทศไทยเริ่มจัดให้มีการรณรงค์ขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2533

โดยมีเป้าหมายดังต่อไปนี้ คือ

  1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
  2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
  3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
  4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
  5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่นๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
  7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

ที่มาของข้อมูล : วิกิพีเดีย , มหาวิทลัยรามคำแหง

รูปภาพ : https://goo.gl/sTtuUe

ผู้เข้าชม  3497