ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ในฐานะแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการทุกขนาด และเป็นแหล่งบริหารเงินออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินของชีวิตคนไทย (Fruitful Growth) ยังได้ดำเนินบทบาทคู่ขนาน ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า การเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้น มีความยั่งยืน กว้างขวาง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ กล่าวคือ นอกเหนือไปจากมิติทางเศรษฐกิจ ยังคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยบริบทการทำงานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้าง “ความสมดุลย์” ให้กับองค์ประกอบอื่นในระบบนิเวศของโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม พืช หรือสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการคงอยู่อย่างยั่งยืน (Sustainability)  ของสมดุลย์โลก (Meaningful growth)

      การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว จุดที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง กล่าวคือ การทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้ความรู้ ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเหล่านั้น ให้ความสำคัญ เรียนรู้ และปรับใช้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้ผสมผสานอยู่ในวิสัยทัศน์ และกลยุทธหลักของการพัฒนาธุรกิจ โดยเริ่มจากการมีบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ในการบริหารงาน การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานในทุกๆ ขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้มิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัจจัยที่ต้องดูแลในกระบวนการดำเนินกิจการ (CSR in process) รวมทั้ง ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการที่ร่วมพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม (contribute to social solution) ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการและทำงานร่วมกับบริษัทจดทะเบียน ในการพัฒนางานด้าน ESG (Environment, Social, Governance)  มาโดยตลอด ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าเป็นสมาชิกของ UN Sustainable Stock Exchange ในปี 2016 ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในอาเซียน และได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย อ้างอิงอยู่บนมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของโลก ไม่ว่าจะเป็น...Dow Jones Sustainability Indices  หรือ ASEAN Corporate Governance Scorecard  นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังทำหน้าที่ในการให้ความรู้ การให้คำปรึกษาในการปรับกลยุทธธุรกิจให้มีความยั่งยืน เผยแพร่แนวคิด รวมทั้งเชิดชูองค์กรที่มีการดำเนินการด้านความยั่งยืนโดดเด่น ในรูปแบบของรางวัลเกียติยศ (SET Sustainability Award) เพื่อเป็นต้นแบบและส่งเสริมการเรียนรู้ต่อยอดต่อไป

 

SET Social Impact “Impact Multiplier”

     อย่างไรก็ดี การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้านการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังได้ขยายขอบเขต ไปสู่ภาคสังคมนอกเหนือจากผู้ร่วมตลาดทุน (Stakeholder) โดยผ่าน SETsocialimpact platform โดยเริ่มขับเคลื่อนโฉมใหม่ของการขยายผลลัพธ์ทางสังคมตั้งแต่ปี 2016 ภายใต้แนวคิด “Social Impact Multiplier” กล่าวคือ เป็นการนำเอาศักยภาพเดิมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความมั่งคั่ง โดยพัฒนาให้เป็นตัวกลางในการขยายเครือข่าย ขยายความร่วมมือ เพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม ให้กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า Multiplier จึงหมายถึง การทวีคูณผลลัพท์ ที่เกิดจากการร่วมออกแบบโมเดล (Model Co-creation) ความสัมพันธ์ รูปแบบการเชื่อมต่อคุณค่าของแต่ละองค์กร หรือการร่วมกันสร้างนวต กรรมทางสังคม โดยเน้นให้การแก้ไขปัญหาสังคม ได้รับการขับเคลื่อนด้วยกลไกธุรกิจ รวมทั้ง การสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) เพื่อส่งเสริมให้เกิด Social Impact investment สร้างความยั่งยืนในการรับมือกับปัญหาทางสังคม และเป็นการผนวกการทำงานคู่ขนานระหว่างภาคสังคมและภาคธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากการขับเคลือนด้วยกลไกองค์กรการกุศลในอดีต

SET Social Impact = Impactful Platform

     การทำงานของ SET Social Impact อยู่ในรูปของแพลตฟอร์ม ที่มีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาช่องทาง Online ในรูปของ Website และ Facebook เพื่อสร้างการเข้าถึงเรื่องราว ความรู้ และกิจกรรมร่วม เพื่อให้เกิดความร่วมมือสร้างสรรค์การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยออกแบบให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้ประกอบการทางสังคม Social Enterprise หรือ Impact Creator และผู้ประกอบธุรกิจ (Business sector) โดยนำเสนอการทำงานด้านสังคมของทั้ง 2 กลุ่มองค์กร

 

         อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสร้างชีวิต หรือขับเคลื่อนคุณค่าให้กับแพลตฟอร์ม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้พัฒนา 2 กลไกหลัก ในการขับเคลื่อนรูปธรรมในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ได้แก่

  1. การส่งเสริมศักยภาพ (Ability Building) ในการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมให้กับ นักธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายการเรียนรู้ในสถาบันอุดมศึกษา (SE101@University), โปรแกรม SE102 ติวเข้มเพื่อฝึกทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ (กทม./ตจว) และโครงการ Impact Gym ที่ส่งเสริม SE ให้ลงมือทำธุรกิจ สร้างศักยภาพในการเป็นนักธุรกิจจริง (Entrepreneurship) บนการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจใน ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และผู้เชี่ยวชาญ (expert) เฉพาะด้าน ในรูปแบบ Coaching & Mentoring System  
  2. ส่งเสริมโอกาสความร่วมมือ (Workability) ระหว่างภาคสังคมและภาคธุรกิจ โดยแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ การนำเสนอ และพัฒนาความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน ด้วยการร่วมออกแบบ (co-creation) เพื่อเชื่อมต่อคุณค่า Value Chain ในลักษณะต่าง ๆ การสร้างนวตกรรมทางสังคมด้วยการผสมผสานศักยภาพของแต่ละองค์กร ในหลากหลายมิติ โดยผ่านการเสวนาระดมความคิดเห็น, กิจกรรม Roundtable , After Gym (กิจกรรมเฉพาะประเด็นปัญหา) และ Showcase ที่เป็นนิทรรศการต่าง ๆ เป็นต้น

แพลตฟอร์มนี้ จึงถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ร่วมนำเสนอตัวตนบนพื้นที่ ทั้งที่เป็น Online และ Offline การเปิดกว้างเพื่อรับการต่อยอด หรือเพื่อนำศักยภาพที่องค์กรของตนมีอยู่ มาร่วมสร้างสรรค์การทำงานร่วมกัน สร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ที่พร้อมที่จะเดินร่วมกัน ในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคมอย่างยั่งยืน

 

Impact Platform toward Sustainable Consumption

     หากจะพิจารณาถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศหรือบนโลกนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ามีอยู่อย่างมากมาย มีความซับซ้อน เชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ในระบบความสมดุลย์ของโลกและครอบคลุมทุกมิติ และเนื่องจากปัญหาเหล่านั้น เป็นเรื่องสำคัญที่มีส่วนต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ ดังนั้น ในกรอบระหว่างประเทศ สหประชาชาติ จึงได้มีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ  UN SDG, Sustainable Development Goal ไว้ เพื่อเป็นเป้าร่วมของวาระโลก ในการที่แต่ละประเทศควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ชาติ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2030 นี้ อย่างไรก็ตาม ในบริบทของการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดำเนินคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม กลับยังมีความรุนแรง และมีความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้น

     แพลตฟอร์ม SET Social Impact จึงมุ่งเป็นอีกกลไก โดยเป็นอีก “จุด” (dot) ความพยายาม ในการสร้าง “แนวร่วม” การแก้ไขปัญหาสังคม โดยสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตื่นรู้ ผ่านการริเริ่ม สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยมุ่งหวังให้ “คนไทย” เกิดการเรียนรู้ ร่วมรับรู้ ร่วมปรับพฤติกรรม และร่วมผลักดัน แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เป็นอีกวัฒนธรรมอันดีของผู้บริโภคไทย (Consumer Behavior) ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเครือข่ายจึงได้พัฒนาโครงการต่าง ๆ ได้แก่

  1. Care the Bear : เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  2. Care the Whale : เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบริหารจัดการของเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ในถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมกับอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าบนถนน
  3. Care the Wild : เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศน์

โครงการดังกล่าว มีส่วนสำคัญยิ่งในการร่วมเรียนรู้ เรียนทำ จากระดับบุคคล องค์กร และระบบนิเวศน์ และเป็นต้นแบบเพื่อการทำซ้ำและขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป

 

Impact Platform – Platform for multiplied effect

     แพลตฟอร์มนี้ ถือเป็นจุดเล็กๆ ของความพยายามในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสังคม (Contribute to the Solution) และเราหวังว่าจะมีจุดเล็กๆ อื่น ๆ ที่มาเชื่อมต่อกับเรา เพื่อการขยายผลลัพธ์ทางสังคม การทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนที่เป็นการแก้ไขปัญหาของมนุษย์เอง (Social Issue) และส่วนที่เป็นเพื่อให้การบริโภค การบริหารจัดการทรัพยากรของโลก (Environmental Issue) ได้ส่งต่อให้กับคนรุ่นหน้า เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยออกแบบอนาคตเพื่อวันพรุ่งนี้  ช่วยทำให้มนุษย์ เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับ พืชทั้งหลาย สัตว์มากมาย และธรรมชาติ ที่มอบสมดุลย์และโอกาสในการมีชีวิตให้กับมนุษย์ชาติ 

ผู้เข้าชม  49783