สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

1. เพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ สามารถรับความรู้และบริการวางแผนครอบครัวได้ โดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็วในลักษณะชุมชนช่วยชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการวางแผนครอบครัวของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ในอันที่จะลดอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ เกิดความคิดริเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตน
3. เพื่อเสริมงานในด้านการพัฒนาต่างๆ แก่ทางราชการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับฐานะการครองชีพ การสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น
4. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนคติในด้านประชากรศึกษา การวางแผน ครอบครัว และการพัฒนาชุมชนกับประเทศต่างๆ

ปีพุทธศักราช 2517 โครงการวางแผนครอบครัวชุมชน ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของระบบการให้บริการโดยอาสาสมัครในชุมชน หรือระบบชุมชนช่วยชุมชน (Community-Based Distribution System) ด้วยเงินสนับสนุนก้อนแรก จำนวน US$ 2,000 (เกือบ 50,000 บาท ในเวลานั้น) และต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation – IPPF) เพื่อดำเนินการงานวางแผนครอบครัวชุมชน โดยได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่แรก บุคคลากรที่ร่วมงานกันในขณะนั้นมีเพียง 10 กว่าคน ที่บ้านเช่าหลังเล็ก ๆ ในซอยสุขุมวิท 14 ใช้ชื่อว่า สำนักงานบริการวางแผนครอบครัวชุมชน (Community-Based Family Planning Services – CBFPS) ทุกคนทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ด้วยความมุ่งมั่นและพยายามเพื่อให้งานสำเร็จ ในช่วงเวลานั้นมิได้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่พร้อมเช่นปัจจุบัน แต่เพื่อความอยู่รอดขององค์การและตัวเอง ทุกคนมีสำนึกว่าหากงานประสบผลสำเร็จ องค์การมีความก้าวหน้ามั่นคง ทุกคนก็จะมีงานทำ มีรายได้พอเพียงแก่สถานะตามอัตภาพ โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้นำในการทำงานร่วมกันกับทีมงานที่มุ่งมั่น

เนื่องจาก การวางแผนครอบครัว เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีไทยยังไม่เปิดกว้างให้มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวมากนัก ส่วนมากยังถือกันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่นำมากล่าวในที่สาธารณะ ในขณะที่ผู้บริหารราชการส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ชาวบ้านเป็นผู้จ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด ถึงแม้ว่าจะได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีแล้วก็ตาม การจ่ายอุปกรณ์คุมกำเนิดในสมัยนั้นจำเป็นต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งการเดินทางไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล การคมนาคมก็ยากลำบาก อัตราเกิดของประชากรไทยในขณะนั้นจึงมีอัตราสูงมาก คือ 3.3%

ในปีพุทธศักราช 2517 ประเทศไทย มีอัตราเกิดถึงร้อยละ 3.26 อัตราตายร้อยละ 0.61 อัตราเพิ่มประชากรโดยประมาณร้อยละ 2.7 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 41.5 ล้านคน นั่นหมายความว่า ในปีหนึ่ง ๆ จะมีประชากรเพิ่มเกือบหนึ่งล้านคน หรือโดยเฉลี่ยคนไทยเกิด 3 คนต่อนาที และทุกคนที่เกิดขึ้นมาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูให้การศึกษาจนถึงอายุ 20 ปีเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 200,000 บาท (ค่าของเงินสมัยนั้น) ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการอธิบายชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยเราจึงต้องมีโครงการวางแผนครอบครัว แต่กระนั้นก็ตามยังมีกระแสต่อต้านต่างๆ นานา เข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของชาวต่างชาติในอันที่จะควบคุมจำนวนพลเมืองมิให้เป็นมหาอำนาจบ้าง โรงเรียนไม่มีเด็กนักเรียนครูต้องว่างงานบ้างหรือแม้แต่การกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็มีแต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างบริสุทธิ์ มิได้มีสิ่งใดแอบแฝงโครงการวางแผนครอบครัวชุมชน จึงได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม มีชื่อเสียงไปทั่วโลก นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้นำองค์การได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย และเป็นที่ยอมรับในวงการประชากรว่า เป็นผู้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวของประเทศไทย และนี่คือความจริงที่ได้รับการพิสูจน์ถึงเจตนารมณ์แห่งการทำงานเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม

สมาคมฯ ทำงานเพื่อสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง การทำงานเพื่อสังคมและชุมชน ซึ่งมีพัฒนาการในการดำเนินกิจกรรมครบวงจร ตลอดจนการเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับหน่วยงานภายในประเทศและนานาชาติ ผ่านศูนย์พัฒนาประชากรและชุมชนแห่งเอเชีย สมาคมฯ สาขา รวมทั้งศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานทั้ง 16 แห่ง เป็นเครื่องยืนยันการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของสมาคมฯ ที่เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัดของประเทศไทย

โครงการวางแผนครอบครัวและการสาธารณสุข

การรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์

การสร้างรายได้และขจัดความยากจน

อ่านรายละเอียด อ่านรายละเอียด อ่านรายละเอียด

สมาคมฯ ได้ดำเนินงานตามโครงการต่างๆ เกือบ 300 โครงการ กิจกรรมที่สำคัญได้แก่การวางแผนครอบครัวการสาธารณสุขมูลฐานการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ การส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาศักยภาพของสตรีและเด็ก การสนับสนุนทุนการศึกษาทุกระดับ การพัฒนา แหล่งน้ำดื่ม-น้ำใช้และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ และการกระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบทเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชนบท ลดการย้ายถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรชุมชน จากแผนยุทธศาสตร์ และกลวิธีในการดำเนินงานทำให้ผลงานเป็นที่ปรากฏชัดเจน และได้นำมาประยุกต์ ไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้นประเทศ เพื่อนบ้านใกล้เคียงและทวีปอื่นๆ ได้นำแบบอย่างไปทดลองและขยายผลอย่างกว้างขวาง

ผู้เข้าชม  456