ประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการเพื่อสังคม

ผู้เขียน :อาจารย์ชัญญา ปัญญากำพล

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยโลกคดีศึกษา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สนับสนุนโดย :ฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม   ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

บทความนี้จะกล่าวถึงมาตรการทางภาษีสำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ได้ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559 (พ.ร.ฎ.ฯ) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับอนุญาต ที่เรียกทางกฎหมายว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ออกภายใต้ พ.ร.ฎ.ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการประกอบกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมาตรา 3 ของ พ.ร.ฎฯ ได้นิยาม “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ไว้ว่า

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด”

เป็นที่น่าสังเกตว่านิยามของ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ของ พ.ร.ฎ.ฯ มีความแตกต่างจากร่างพ.ร.บ.ฯ (ที่กล่าวไว้ในบทความที่แล้ว) อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากวิสาหกิจเพื่อสังคมตามความหมายของ พ.ร.ฎ.ฯ มีความเฉพาะว่า ไม่ใช่แค่เพียงเป็นนิติบุคคลก็จะสามารถเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ แต่จะต้องเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” เท่านั้น นอกจากนี้หากเป็นองค์กรที่ “มุ่งส่งเสริมการจ้างงานท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่” ก็ถือว่าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.ฯ นั้น ไม่ได้ระบุรายละเอียดในข้อนี้ไว้

เนื่องจาก พ.ร.ฎ.ฯ นี้เป็นการออกตามความในประมวลว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีโดยเฉพาะ ซึ่งใจความสำคัญหลักจึงเกี่ยวเนื่องกับสิทธิพิเศษทางภาษีเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้พ.ร.ฎ.ฯ ได้กำหนดสิทธิพิเศษดังกล่าวไว้ 3 กรณี ได้แก่

1. กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมไม่มีการจ่ายเงินปันผลเลย ในกรณีนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้ลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนและเงินบริจาคได้ 1 เท่า อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถหักรายจ่ายได้เกินร้อยละ 2 ของกำไรเมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์

2. กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินปันผลแต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไร ในกรณีนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคมจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้ลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนและเงินบริจาคได้เช่นเดียวกับกรณีที่ 1

3. กรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินปันผลเกินร้อยละ 30 ของกำไร
ในกรณีนี้ ทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้ลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้บริจาคเงินให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใด ๆ

ในกรณีที่ 1 และ 2 นั้น หากในรอบบัญชีใดวิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินปันผลเกินร้อยละ 30 ของกำไร หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้ลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมมีการโอนหุ้น ก่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้ลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคมหมดสิทธิในการยกเว้นภาษี และจะต้องเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนผู้บริจาคเงินหมดสิทธิยกเว้นภาษีทันที

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามตัวบทแล้วสามารถตีความได้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ในรอบบัญชีนั้น แต่ในรอบบัญชีถัดไป หากวิสาหกิจเพื่อสังคมกลับมาปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ่ายปันผลไม่เกินร้อยละ 30 แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวยังสามารถกลับมาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรอบบัญชีใหม่ได้ เนื่องจากมีการระบุในบทบัญญัติดังกล่าวว่า “ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี” แต่อาจจะต้องเริ่มนับปีรอบบัญชีใหม่ อย่างไรก็ตาม การตีความนี้เป็นการตีความส่วนบุคคลและยังต้องรอความแน่นอนจากการตีความของกรมสรรพากรต่อไป

นอกจากนั้นหากวิสาหกิจเพื่อสังคมเลือกที่จะรับสิทธิพิเศษทางภาษีแล้วจะต้องรักษาสถานภาพการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจเพื่อสังคมในกรณีที่ 1 หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้แล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลังตั้งแต่ปีแรกที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ข้อจำกัดอื่น ๆ ที่สำคัญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้แก่ การห้ามไม่ให้เป็นคู่สัญญาและไม่ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน อย่างไรก็ตาม ข้อกำจัดต่าง ๆ ข้างต้นนั้นยังจะมีข้อจำกัดเพิ่มเติม หรือมีข้อยกเว้นได้ ตามประกาศของอธิบดีที่จะมีการออกในรายละเอียดต่อไป

เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยควรจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก่อนเท่านั้น และในการจดทะเบียนนั้นจะต้องต่อท้ายชื่อนิติบุคคลดังกล่าวด้วยคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” และวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าองค์กรดังกล่าวคือองค์กรใด จากนั้นวิสาหกิจเพื่อสังคมจึงจะสามารถไปขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรได้

ทั้งนี้หากกิจการเพื่อสังคมไม่ได้สนใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วนั้น วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นก็ไม่ต้องมีข้อผูกมัดต่าง ๆ ให้ต้องปฏิบัติตามดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กรณีนี้ผู้ที่มีความคิดจะก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมจะต้องตัดสินใจวางองค์กรจะดำเนินไปในทิศทางใด สิ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากกว่ามาตราการทางภาษี คือ การร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งจากภายใน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ระบบนิเวศมีความเข้มแข็งในตัวเอง และสามารถประกอบธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้และอยู่รอดด้วยตัวเองได้ในเวลาเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนฝากประเด็นสำคัญที่ต้องขบคิดต่อไป ในด้านการยกเว้นภาษีที่ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกใหม่ แต่จะเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยตรง

ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไป
• จะมีข้อยกเว้นให้ผู้ถือหุ้นและผู้เป็นหุ้นส่วนในวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ในกรณีที่ 1 และ 2) สามารถรับเงินเดือน และ/หรือทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจเพื่อสังคมได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นการขัดต่อมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แต่การปฏิบัติตามดังกล่าวจะขัดต่อธรรมชาติของโครงสร้างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
• การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคมในกรณีที่ 1, 2 และ 3 ทำได้หรือไม่ หากทำได้ แล้ววิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องเสียภาษีย้อนหลังหรือไม่ จะยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบใดบ้าง และการนับระยะเวลา 10 ปีรอบบัญชีจะต้องเริ่มนับใหม่หรือไม่

ผู้เข้าชม  7493