ประติมากรรม “วาฬ” บ้านเลขที่ 93 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  
 
       
           โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน เกิดจากความร่วมมือที่เริ่มต้นจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดาภิเษกโดยอ้างอิงเป้าประสงค์ของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UNSDG Goal) ในข้อ 13 Climate Action เป็นเป้าหมาย ข้อ 12 Responsible Consumption and Production เป็นวิธีการ และขับเคลื่อนด้วยการทำงานด้วย ข้อ17 Partnership for the Goal  โดยผนึกกำลังกับ 14 องค์กร  บนพื้นที่ร่วม 600,000 ตารางเมตร มีพนักงานจาก 14 องค์กรที่อยู่ในพื้นที่กว่า 30,000 คน ร่วมสร้างย่านน่าอยู่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำให้ขยะล่องหน การจัดการของเสียอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คนในย่านจะเป็นต้นแบบ เป็นพลังหลักในการขยายแนวคิด กำจัดคำว่า “ขยะ” ให้หายไป ร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด นี้ไปยังผู้ที่มาเยือนย่านรัชดาภิเษก ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีมากถึง 1.3 ล้านคน โดยมีวาฬ (Whale) เป็นตัวแทนของระบบนิเวศน์ที่รอให้มนุษย์เข้ามาแก้ไข และสร้างความสมดุล ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ “Care the Whale ขยะล่องหน”  ได้มีการสร้างเครื่องมือกลาง Care the Whale Calculator ช่วยในการคำนวณ – ทบทวน – ประมวลผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดขยะต้นทาง เพื่อให้เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในการออกแบบแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ลดการใช้ ลดการเกิดขยะ  ทั้งนี้ สำหรับการนำขยะไปแปรรรูปหรือนำมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรนอกย่านที่มีศักยภาพในการแปรรูปและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อยอด การเป็นย่านน่าอยู่ครบทุกมิติในอนาคตด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งด้านความรู้ทางการเงิน และการท่องเที่ยวในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน 
 
“วาฬ”  บ้านเลขที่ 93 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
       

ขนาดชิ้นงาน                    :           4.4×4.4×3.3 เมตร

เทคนิค                           :           ศิลปะการจัดวางวัสดุเหลือใช้

วัสดุที่ใช้                      :          

  1. ฝาพลาสติกใช้แล้ว  200 กิโลกรัม
  2. ฝาอลูมิเนียมใช้แล้ว  120 กิโลกรัม
  3. ฝาดึงอลูมิเนียมใช้แล้ว 60 กิโลกรัม
  4. ถาดขนมใช้แล้ว 15 กิโลกรัม
  5. ฝาสเปรย์ 20 กิโลกรัม
  6. แหใช้แล้ว 15 เมตร
  7. เชือกไนล่อนใช้แล้ว 30 เมตร
  8. ถ้วยพลาสติกใช้แล้ว  2 ถ้วย
  9. ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว 50 ขวด
  10. ขวดนมใช้แล้ว 5 กิโลกรัม

 

         แนวคิดของผลงาน

        ผลงานชิ้นนี้ต้องการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านรูปแบบของงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจ และปลูกจิตสำนึกให้กับสังคมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยศิลปินเลือกใช้วัสดุเหลือใช้มาสร้างงาน เพื่อตอกย้ำการใช้ซ้ำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะพลาสติกในแหล่งน้ำที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำสูญพันธุ์  การเผาขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน การฝังกลบขยะที่ทำลายชั้นผิวดิน พืช สัตว์บก ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ตามข้อที่ 8 และข้อที่ 12  ดังนี้

 

ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

          ผ่านกระบวนการคิด

ศิลปิน-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม-สังคม สู่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

ต้นน้ำ

  • รับซื้อขยะจากคุณลุง คุณป้าขายขยะ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มอาชีพซาเล้งจากสภาวะปัญหาราคาขยะตกต่ำในปัจจุบัน
  • ได้รับการบริจาคจากผู้คัดแยกขยะ องค์กร บริษัทต่างๆ อาทิ
        - ATM Spray ผู้ส่งมอบฝาสเปรย์เหลือใช้
        - บ้านพักตากอากาศ HugStation เขาใหญ่ ผู้ส่งมอบฝาดึงอลูมิเนียม
        - SCG ระยอง เกลียวพลาสติกเหลือทิ้งจากการผลิตบ้านปลา
        - CONSCIOUS Studio  ผู้ส่งมอบ เชือกไนล่อนและท่อยางสำหรับตู้ปลา จากงานชิ้นเก่า
  • คัดแยกวัสดุเหลือใช้จากในครัวเรือนตนเอง อาทิ ขวดนม ขวดน้ำ
  • รื้อถอนจากผลงานชิ้นเก่า (เฉพาะชิ้นที่จัดแสดงชั่วคราว)  และนำวัสดุเหล่านั้นมาหมุนเวียนใช้ซ้ำใหม่

กลางน้ำ

ผลงานชิ้นนี้ คัดแยกขยะ ทำความสะอาด และสร้างสรรค์โดยศิลปินร่วมกับชุมชนในละแวกใกล้เคียงพื้นที่ทำงาน ชาวชุมชน อบต.บางแม่นาง บางใหญ่ จ.นนทบุรี  เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะ และการแปรเปลี่ยนวัสดุอย่างสร้างสรรค์และเกิดมูลค่า

ปลายน้ำ

ผลสำเร็จของงานชิ้นนี้ คือการเติมเต็มความสวยงามให้กับพื้นที่โดยใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้ว และการสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้พบเห็นโดยชิ้นงานนี้ติดตั้งเป็นอย่างน้อย 1 ปี เมื่อเกิดการรื้อถอน วัสดุทั้งหมดนี้จะถูกคัดแยก ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ส่วนที่นำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ (Reuse) เพื่อนำเอามาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่อีกครั้ง และอีกส่วนจะถูกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล (Recycle) ในระบบอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

 
 
       

#CaretheWhale
#ขยะล่องหน
#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด
 
ผู้เข้าชม  2202