ป่าชุมชนบ้านอ้อย บ้านบุญเริง

ชุมชนบ้านอ้อย หมู่ที่ 11 ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่

“ ชุมชนมีความเข้มแข็งในการปกป้อง และพร้อมพัฒนาพื้นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบ”

พื้นที่ปลูก : 41 ไร่ พื้นที่ป่าดินมีความสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้สะดวก สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้
พันธุ์ไม้ที่ต้องการจะปลูก :
- ไม้ป่ายืนต้น ได้แก่ มะค่าโมง ประดู่ ยมหิน ขี้เหล็ก พยุง
- พืชวนเกษตร และไม้ผล ประเภทต้นไม้ ได้แก่ ชงโค สะเดา มะกอก หว้า มะม่วงหิมพานต์ ไผ่รวก มะขามป้อม มะม่วง ขนุน
_______________________________________________________________________

เนื้อที่ป่าชุมชน : 1,260 ไร่
สถานะป่า : ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
ระยะทางจากกรุงเทพ : 560 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 7 ชั่วโมง 45 นาที

---------------------------------------------------------------------------------------------

หมู่ที่ 4 ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่

“ชุมชนมีความเข้มแข็งในการปกป้อง และพร้อมพัฒนาพื้นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบ”

 

พื้นที่ปลูก : 50 ไร่ พื้นที่ป่าดินมีความสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้สะดวก ทำให้สามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าได้ง่ายและสะดวก
พันธุ์ไม้ที่ต้องการจะปลูก :
- ไม้ป่ายืนต้น ประเภทต้นไม้ ได้แก่ มะค่าโมง ประดู่ ยมหิน ขี้เหล็ก พะยูง ชงโค สะเดา มะกอก หว้า
- พืชวนเกษตร และไม้ผล ประเภทต้นไม้ ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่รวก มะขามป้อม มะม่วง ขนุน

__________________________________________________________________

เนื้อที่ป่าชุมชน : 1,043 ไร่
สถานะป่า : ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
ระยะทางจากกรุงเทพ : 560 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ : 7 ชั่วโมง 41 นาที

---------------------------------------------------------------------------------------------

Update : การสนับสนุน การปลูก การดูแลและติดตามผลการเติบโต

---------------------------------------------------------------------------------------------

การสนับสนุนจากองค์กรภาคธุรกิจ

Care the Wild “ปลูกป้อง” รีบปลูก นำทัพพันธมิตรสมาคม maiA และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มผืนป่า  91 ไร่ 

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 65 ทีมปลูกป้องรวมพลังผู้บริหารและพนักงานของบริษัทจดทะเบียนใน mai และตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่า ณ ป่าชุมชนบ้านอ้อย และบ้านบุญเริง ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่  ซึ่งระดมทุนผ่านโครงการ Care the Wild จำนวน 91 ไร่ รวม 18,200 ต้น และร่วมเส้นทางศึกษาความเชื่อมโยงของ “ป่า คน ธรรมชาติ ลุ่มน้ำแม่ถาง” ผ่าน 7 ฐานเรียนรู้ ร่วมกับพันธมิตร กรมป่าไม้ เครือข่ายชุมชนเข้มแข็งทั้ง 14 หมู่บ้านรวมกว่า 200 คน  บนพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำม่อนแม่ถางซึ่งมีพื้นที่ป่า รวม 2,843ไร่ เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ  ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อผลิตผลทางการเกษตรเพื่อบริโภคและเชิงพาณิชย์ และสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้แก่ชุมชนกว่า 390 ครัวเรือน และเมื่อต้นไม้เติบโตจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก 163,800 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

 

   

     

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

 53 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เดินหน้าปลูกเพิ่มผืนป่า 65 ไร่  รอบอ่างเก็บน้ำม่อนแม่ถาง อ.ร้องกวาง จ. แพร่  

คุณไตรสรณ์ วรญาณโกศล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นำคณะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนสมาชิกกว่า 30 ท่านจาก 15 บจ. ผู้แทนร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้นำร่อง 200 ต้น จากการระดมทุน 2.86  ล้านบาท จากสมาชิกเพื่อร่วม “ปลูกต้นไม้” รวม 13,000 ต้น และดูแลรักษา ฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มีความอุดมสมบูรณ์ ผ่านโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” plant & Protect ความร่วมมือครั้งนี้ปลุกพลังให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ได้เห็นความสำคัญและความร่วมมือกันสร้างพื้นที่สีเขียวให้ขยายเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการแก้ปัญหาความไม่สมดุลและสร้างเสริมระบบนิเวศที่ดี กระบวนการ “ปลูก” นับจากนี้จะมีพี่น้องทีม “ปลูกป้อง” ในชุมชนสานต่อให้แล้วเสร็จในฤดูปลูกของปีนี้ (ฤดูปลูกระหว่าง พ.ค.– ส.ค. ทุกปี) และ “ป้อง” ดูแลต่อเนื่อง 10 ปี ด้วยอัตรารอดตาย 100 %

 

        

               

ภาพกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกับชุมชน ณ ป่าชุมชนบ้านอ้อย และป่าชุมชนบ้านบุญเริง อ.ร้องกวาง จ. แพร่ 

 

 

53 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ สนับสนุนปลูกเพิ่มผืนป่า 65 ไร่

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้บริหารและพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ กว่า 40 คน ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มผืนป่า 91 ไร่ พร้อมเรียนรู้ระบบนิเวศของม่อนแม่ถาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ดำเนินโครงการ Care the Wild  :  Plant & Protect แพลตฟอร์มระดมทุนปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า สนับสนุนการปลูกต้นไม้จำนวน 26 ไร่ รวม 5,200 ต้น โดยมีดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และคณะผู้บริหาร คุณรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล  ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานกฎหมาย  คุณกีรติ โกสีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน และคณะพนักงาน ร่วมกิจกรรมปลูก และกิจกรรม Study Tour ศึกษาธรรมชาติ เชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้  “ความสัมพันธ์ ดิน น้ำ ป่า คน ธรรมชาติ ลุ่มน้ำแม่ถาง” ผ่าน 7 ฐานเรียนรู้ ร่วมกับเยาวชนรุ่นใหม่ พี่น้องชุมชนทั้ง 14 หมู่บ้านรอบอ่างเก็บน้ำม่อนแม่ถาง และผู้แทนองค์กรธุรกิจที่ร่วมกิจกรรมรวมกว่า 200 คน เพื่อปลูกจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน 

ในโอกาสนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอบการสนับสนุนทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนบ้านอ้อยวิทยาคาร และอุปกรณ์การแพทย์ แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนที่จะทำหน้าที่ดูแลผืนป่าแห่งนี้

 

 

        

        

---------------------------------------------------------------------------------------------

ติดตามผลปลูกป่าชุมชนบ้านอ้อย  (41 ไร่)  บ้านบุญเริง (50 ไร่) พื้นที่ปลูกรวม 91 ไร่ : ครั้งที่ 1 (15  กันยายน  2565) 

 

 

เมื่อ 15  กันยายน  2565  ทีมงานโครงการ Care the Wild  พร้อมด้วยพันธมิตร สำนักจัดการป่าชุมชน และ ศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 9 (ลำปาง) กรมป่าไม้  พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ผู้รับผิดชอบพื้นที่ปลูก นายบุญชู แก้วสิมมา ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านอ้อย และนาย สุทัศน์    วิกาหะ  ประธานคณะกรรมการป่าชุมชน บุญเริงหมู่ที่ 4  ร่วมลงพื้นที่ปลูก ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ประกอบกับการรายงานผลปลูกจากชุมชน ดังนี้

จำนวนไร่ที่ปลูก   91 ไร่ 

จำนวนต้นไม้ที่ปลูก  18,200  ต้น 

ประเภทต้นไม้  ไม้ป่าและไม้ผลกินได้ แบ่งออกเป็น 9 ชนิด คือ ประดู่ สัก มะค่าโมง ยางนา กาฬพฤกษ์ สะเดา ขี้เหล็ก มะขามป้อม หว้า  

การเติบโตโดยรวม

  • เฉลี่ยความสูงของต้นไม้  (cm.) 60 cm
  • สัดส่วนต้นไม้ที่รอด  (%)        95 %
  • ประเภทต้นไม้ที่เติบโตได้ดี …ประดู่ สัก มะค่าโมง สะเดา ขี้เหล็ก มะขามป้อม ยางนา หว้า

  

การบำรุงรักษาต้นไม้

ตัดหญ้า แผ้วถางวัชพืชรอบโคนต้น ใช้แรงงานและเครื่องตัดหญ้าแผ้วถางวัชพืชทั้งแปลง และถากหญ้ารอบโคนต้นไม้ที่ปลูก พรวนดิน ปลูกซ่อม ใส่ปุ๋ย

    

การจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับการทิ้งช่วงของฝนในฤดูแล้ง

ชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้านได้ร่วมกันจัดทำฝายถาวรเพื่อกักเก็บน้ำฝนในฤดู  ขนาดความจุ ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 แห่ง แล้วใช้เครื่องปั้มน้ำสูบน้ำจากฝายเก็บไว้ในแทงค์สำรองน้ำจุดที่ 1 รวมความจุ 4,000 ลิตร และระบบกระจายน้ำต่อท่อน้ำเพื่อนำน้ำไปเก็บไว้ที่ถังสำรองน้ำจุดที่ 2 ความจุ 2,000 ลิตร (ทำเหมือนกันทั้ง 2 หมู่)  ซึ่งแปลงปลูกนี้จะได้มีน้ำสำรองใช้ได้อย่างไม่ขาดแคลน

 

  

การจัดทำแนวกันไฟ

จัดทำแนวกันไฟขนาดกว้าง 8-10 เมตร รอบแปลงปลูกป่าโดยใช้เส้นทางตรวจการเป็นแนวกันไฟ ระยะทาง ประมาณ 7 กิโลเมตร โดยกำจัดเศษซากวัชพืชที่ติดไฟได้ง่าย เช่น ใบไม้ หญ้า วัชพืชขนาดเล็ก ให้โล่งเตียน ตัด ลิดกิ่ง ก้านต้นไม้สูงจากพื้นดินอย่างน้อย 1 เมตร สำหรับต้นไม้ที่มีความสูงตั้งแต่ 1 เมตร ขึ้นไป ในเส้นแนวกันไฟ เก็บริบ กวาดเศษซากเชื้อเพลิงต่างๆ ออกจากเส้นแนวกันไฟโดยไม่เผา ถาก กำจัดเชื้อเพลิงออกให้หมดจนถึงพื้นดิน

 

  

 

ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่ ได้ร่วมประชุมวางแผนจะจัดทำรั้วลวดหนามล้อมบริเวณพื้นที่แปลงปลูกป่า ทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง (วัว) ที่เข้ามาในบริเวณพื้นที่แปลงปลูกป่า เพื่อลดอัตราการตายอีกด้วย รวมถึงจัดประชุมสร้างความเข้าใจกับสมาชิกป่าชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้ทราบถึงพื้นที่ขอบเขตการดำเนินโครงการและความเป็นมาเป็นไปของโครงการ เพื่อสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผืนป่าอย่างยั่งยืน

 

ติดตามผลปลูก ครั้งที่ 2 :  พฤษภาคม 2566

         สมาชิกชุมชนและกรมป่าไม้ลงสำราจพื้นที่ปลูก เมื่อวันที่  23  พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าต้นไม้ในพื้นที่ปลูกของป่าชุมชนทั้ง 2 แห่ง รวม 91 ไร่ ต้นไม้ที่ปลูก 18,200 ต้นมีสัดส่วนอัตรารอดตาย 90 %  มีความสูงเฉลี่ย 60 cm  ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 3.5 cm  ประเภทต้นไม้เติบโตได้ดี ได้แก่ ประดู่ สัก มะค่าโมง สะเดา ขี้เหล็ก มะขามป้อม ยางนา โดยในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม 2565 – เมษายน 2566 เกิดฝนทิ้งช่วงเวลานาน กล้าไม้บางชนิด เช่น มะค่าโมง สัก ทิ้งใบตามธรรมชาติ ทำให้กล้าไม้หยุดการเจริญเติบโต และตายบ้างเล็กน้อย ในช่วงฤดูแล้งเกิดไฟป่าลามเข้ามาในพื้นที่แปลงปลูกบริเวณหมู่ 11  พื้นที่ประมาณ 3 %  (3 ไร่) การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงมีการปลูกซ่อม การลงสำรวจครั้งนี้ สมาชิกชุมชนได้ร่วมตัดหญ้า แผ้วถางวัชพืชรอบโคนต้น พรวนดิน ใส่ปุ๋ย และปลูกทดแทนต้นไม้ที่ตายแล้ว

        การสำรวจการจัดหาแหล่งน้ำรองรับช่วงขาดฝนหน้าแล้ง มีการดำเนินการในรูปแบบฝายกึ่งถาวรมีการดำเนินการเรียบร้อยแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ชุมชนมีการจัดทำแนวกันไฟขนาดกว้าง 8 – 10 เมตร รอบแปลงปลูกโดยใช้เส้นทางตรวจการ์ณเป็นแนวกันไฟ และกำจัดเศษซากวัชพืชที่ติดไฟง่าย เช่นใบไม้ หญ้าแห้ง ให้โล่งเตียน ตัด ลิดกิ่ง ก้านต้นไม้สูงจากพื้นดินอย่างน้อย  1 เมตร(สำหรับต้นไม้ที่สูง 1 เมตรขึ้นไป) สำหรับปัญหาสัตว์บุกรุก แปลงปลูกป่าชุมชนบ้านบุญเริง หมู่ที่ 4 ได้มีการจัดทำรั้วลวดหนามล้อมบริเวณพื้นที่แปลงปลูกป่า รวมทั้งมีการประชุมทำความเข้าใจกับเจ้าของวัวเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ปล่อยวัวเข้ามาในบริเวณแปลงปลูกป่าทั้ง 2 แปลง  (บ้านบุญเริง หมู่ที่ 4 และบ้านอ้อย หมู่ที่ 11)

      ทั้งนี้ ผืนแปลงปลูกมีอาณาเขตในม่อนแม่ถางที่มีพื้นที่ติดต่อกันกับแปลงป่าชุมชนอื่นๆ อีกหลายหมู่บ้าน จึงได้มีการประชุมกับสมาชิกป่าชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้ทราบถึงพื้นที่ขอบเขตการดำเนินโครงการ ฯ และการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน 

 

    
 
 
 

การติดตามผลปลูก ครั้งที่ 3 : เดือนกรกฎาคม  2566

     เมื่อ 16 กรกฏาคม  2566 บริษัท The Next Forest  ซึ่งเป็น Social Enterprise  ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ให้คำปรึกษาและบริการด้านฟื้นฟูป่า  ได้รายงานผลลัพธ์การติดตามผลปลูกที่ใช้เทคโนโลยีการบินโดรนบนพื้นที่จริง โดยภาพรวมผลการปลูกในพื้นที่แปลงปลูกป่าชุมชนบ้านบุญเริง หมู่ที่ 4 มีพื้นที่ปลูก 50  ไร่ พบว่า การสำรวจพบจำนวนต้นไม้รวมกว่า 15,000 ต้น หรือจำนวนต้นไม้มากกว่า 200 ต้น/ไร่ เนื่องจากชุมชนได้นำต้นไม้มาปลูกเพิ่มในพื้นที่ประมาณ 5,000 ต้น  เป็นสาเหตุของการมีความหนาแน่นต้นไม้ประมาณ334 ต้น/ไร่ โดยต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอดชีวิต 91.69%  หรือรอดตาย 307 ต้น/ไร่  โดยชนิดที่มีการสำรวจพบจากจำนวนมากไปหาน้อย ได้แก่ สัก มะค่าโมง มะขามป้อม หว้า ประดู่ สะเดา และมะขามเปรี้ยว  โดยต้นไม้มีความสูงเฉลี่ย 60 cm  มีต้นไม้บางประเภทที่มีความสูงถึง 1 เมตร เช่น สัก มะขามป้อม  มะค่าโมง และต้นไม้มีค่าเฉลี่ยของเส้นรอบวงประมาณ 3.5 cm 

สมาชิกชุมชนบ้านบุญเริง มีความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกป่าเป็นอย่างดี พร้อมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านที่เข้ามาตรวจตราพื้นที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ ทุกคนในชุมชนช่วยกันป้องกันไม่ให้มีใครบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชนและแปลงปลูก ระมัดระวังเรื่องสัตว์เข้าไปรบกวนในพื้นที่ และคอยเฝ้าระวังไฟป่าในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย สำหรับแปลงปลูกป่าชุมชนบ้านอ้อย หมู่ที่ 11 มีพื้นที่ปลูก จำนวน 41 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูก 8,200 บาท จากผลการสำรวจพบว่าต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอดชีวิต 82.73% ความหนาแน่นประมาณ 210 ต้น/ไร่ สาเหตุที่สำรวจพบเกิน 200 ต้น/ไร่ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมด 41 ไร่นั้น บางบริเวณมีต้นไม้ตามธรรมชาติขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ชาวบ้านจึงได้นำต้นไม้ไปปลูกเพิ่มในพื้นที่โล่งที่สามารถปลูกได้ โดยชนิดที่มีการสำรวจพบจากจำนวนมากไปหาน้อย ได้แก่ สัก หว้า น้อยหน่า มะค่าโมง มะขามป้อม พะยูง สะเดา และมะขาม โดยต้นไม้มีความสูงเฉลี่ย 60 cm  มีต้นไม้บางประเภทที่มีความสูงกว่า 80 cm สักหว้า  น้อยหน่า และต้นไม้มีค่าเฉลี่ยของเส้นรอบวงประมาณ 2 - 3.5 cm ผู้นำชุมชนและชาวบ้านคอยผลัดเปลี่ยนเข้ามาดูแลต้นไม้ในพื้นที่ปลูก หากมีต้นไม้ตายก็จะปลูกเสริมโดยต้นไม้ที่ปลูกทดแทนคือต้นน้อยหน่าที่เติบโตดี  พร้อมทั้งดูแลหลักไม้ไผ่ไม่ให้ล้มเพื่อป้องกันเครื่องตัดหญ้าตัดต้นไม้ที่ปลูก ขณะที่กำจัดวัชพืช อีกทั้งยังมีการตัดแต่งกิ่งของต้นไม้บ้างเพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกมีลำต้นตั้งตรง

ในแปลงมีฝายกักเก็บน้ำสำหรับเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนและนำน้ำมาใช้รดต้นไม้ในแปลงปลูกป่าช่วงฤดูแล้ง แต่เนื่องจากในปี 2566 นี้ ฝนมีปริมาณน้อยและทิ้งช่วงนานจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่เข้าไปทำการติดตามผล แม้จะเป็นช่วงฤดูฝนแต่น้ำในฝายกักเก็บน้ำยังคงแห้งขอด โดยแต่เดิมมีการต่อระบบน้ำเพื่อดึงน้ำจากฝายขึ้นไปเก็บยังแทงก์คอนกรีตที่ตั้งอยู่ใกล้กับกระท่อมในแปลง และต่อระบบน้ำหยดจากแทงก์คอนกรีตเพื่อรดน้ำให้กับต้นไม้ที่ปลูก มีการทำแนวกันไฟรอบบริเวณแนวเขตของป่าชุมชนในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม(ช่วงเวลาที่แล้งที่สุด และมีการเผาไร่ในพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบมากที่สุดเช่นกัน) พร้อมทั้งมีเวรยามเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าชุมชนบ้านอ้อยประสบกับปัญหาไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่จากการจุดไฟตั้งแคมป์ หรือการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่เข้ามาในเขตพื้นที่ป่าของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตอ่างเก็บน้ำม่อนแม่ถาง ทั้งนี้ คนในชุมชนได้ช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเต็มที่และสามารถดับไฟที่ลุกลามเข้ามาในเขตพื้นที่ป่าได้ทัน ทำให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยตรงเขตรอยต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ป่าชุมชน

 

(ผู้ที่สนใจในการร่วมสร้างผืนป่าร่วมกับโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” สร้างป่าด้วยใจ เพื่อสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศ
​ สามารถติดต่อได้ที่ 
 ของเว็บไซต์ SET Social Impact ร่วมเป็นสื่อกลางในการสร้างป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)

ผู้เข้าชม  1890