ปฏิบัติการล่องหนคุณขวดขุ่น "มารู้จักขวดขุ่นกัน!"

ปฏิบัติการล่องหนคุณขวดขุ่น
"
มารู้จักขวดขุ่นกัน!"


       ทุกวันนี้เรามักพบเจอกับขวดพลาสติกได้แทบจะทุกที่ที่เราไป และมันก็มีทั้งแบบขุ่นและใส ซึ่งทุกคนเคยสงสัยไหมว่าขวดพลาสติกเหล่านี้ทั้งขุ่นและใสมันทำมาจากพลาสติกอะไร? และเราจะแยกมันอย่างไร? วันนี้น้องวาฬเลยจะพาทุกคนมารู้จักกับเจ้าขวดพลาสติกขุ่น (HDPE) กันก่อน เพื่อช่วยทุกคนในการแยกขยะให้ถูกต้องมากขึ้น

 

       ขวด High Density Polyethylene (HDPE) หรือที่เราเรียกกันว่าขวดขุ่นนั้น คือขวดที่ทำจากพลาสติกโพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง มีคุณสมบัติยืดหยุ่น แข็งเหนียว ไม่เปราะแตกง่าย ทนทานต่อสารเคมี ป้องกันการซึมผ่านของก๊าซและความชื้นได้ สามารถทนความร้อนได้ประมาณ 80-100 องศาเซลเซียส และทนต่อกรดและเบสได้สูงด้วย

 

       วิธีแยกขวดขุ่น HDPE จากขวดพลาสติกแบบอื่นก็ไม่ยาก เบื้องต้นอยากให้ทุกคนลองสังเกตดู ถ้าเห็นว่าบรรจุภัณฑ์นั้นมีลักษณะขุ่น ผิวไม่มันเงา ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะเป็นพลาสติกชนิด HDPE แต่ให้ชัวร์ก็ลองพลิกบรรจุภัณฑ์ดูก่อนว่ามีสัญลักษณ์ที่เขียนว่า HDPE หรือ สัญลักษณ์เลข 2 หรือไม่  ถ้าเจอละก็ใช่เลยแน่นอน 100%  คือขวดขุ่น HDPE ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักพบขวดขุ่นนี้ได้ในรูปแบบของขวดนม ขวดนมเปรี้ยว ขวดแชมพู ขวดครีม ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม และอีกมากมาย มันอยู่รอบตัวเราไม่แพ้ถุงพลาสติกเลย

 

       ถึงแม้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติทั้งเหนียว ทนทาน แต่ขยะพลาสติกเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 450 ปีกว่าจะการย่อยสลายเลยทีเดียว และในแต่ละปีมนุษย์เราผลิตขยะพลาสติกชนิดนี้มากกว่า 100 ล้านตันต่อปี ขณะที่อัตราการรีไซเคิลอยู่เพียง 30-50% เท่านั้น!

 

       แล้วอย่างนี้เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างกับปัญหานี้? อันที่จริงแล้วถ้าเราจะบอกว่าความอายุยืนของขยะพลาสติกเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่แย่ไปเสียทั้งหมดก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะถ้าเราใช้อย่างคุ้มค่า แยกขยะอย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถลดผลกระทบของของขยะพลาสติกที่มีต่อโลกได้ อย่างเช่น หากเราแยกขยะ พลาสติกเหล่านี้ออกมาตามประเภทของมัน มันก็จะถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย และเร็วขึ้น การแยกขยะของเราจึงจะช่วยลดจำนวนการใช้ทรัพยากรโลก ให้ขยะพลาสติกได้ไปเกิดใหม่ และลดปริมาณขยะที่จะต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและเสี่ยงถูกชะล้างลงทะเลเป็นอันตรายต่อสัตว์น้อยใหญ่ได้อย่างเช่นน้องวาฬได้อีกด้วย

.

 

__

#carethewhale

#ขยะล่องหน

#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด

 

 

Source

http://www.industry.go.th/saraburi/index.php/news/item/10684-pet-hdpe - industry: “ขวด PET และ HDPE คืออะไร”

https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/ - green peace: “พลาสติก 101 : รู้จักพลาสติกในชีวิตประจำวัน”

https://msgroupthailand.com/blog/ข้อดีบรรจุภัณฑ์พลาสติก/  - MS Group Thailand: “คุณสมบัติและข้อดีของบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ”

https://thaithainews.club/ระยะเวลาในการย่อยสลาย-ข/  - Thai Thai News: “ระยะเวลาในการย่อยสลาย ของขยะแต่ละประเภท”

https://www.plasticsinsight.com/resin-intelligence/resin-prices/hdpe/ - Plastics insight: “HDPE Production Capacity, Price and Market”

https://www.alansfactoryoutlet.com/7-types-of-plastics-their-toxicity-and-most-commonly-used-for  - Anlan’s factory outlet: “The 7 Types of Plastics: Their Toxicity and What They are Most Commonly Used For”

ผู้เข้าชม  4990