ปฏิบัติการล่องหนน้องถุงหนม พี่ถุงเติม ถุงหนม ถุงเติม ทำจากอะไรกันนะ?

ปฏิบัติการล่องหนน้องถุงหนม พี่ถุงเติม
ถุงหนม ถุงเติม ทำจากอะไรกันนะ?
 
ส่วนใหญ่แล้วของจำพวกอาหาร สบู่ ครีม และน้ำยาต่าง ๆ มักจะบรรจุมาในบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น หรือ Multi-layer Plastic เจ้าน้องถุงหนม พี่ถุงเติม นู๋ท็อฟฟี่ก็ต่างบรรจุมาในหีบห่อแบบนี้ทั้งนั้น วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมารู้จักถุงหนม ถุงเติมที่ทำจากพลาสติก Multi-layer กันมากขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับการบริโภคในแต่ละวันของแต่ละคนกัน
.
Multi-layer คือพลาสติกหลายชั้นนี้ประกอบไปด้วย…
ชั้นที่ 1 ชั้นนอกสุดที่เป็นแผ่นฟิล์มพลาสติก Polyester (PET) ซึ่งจะช่วยเรื่องความแข็งแรงทนทานของห่อ เพราะมีความเหนียว ทนต่อความร้อน และสามารถพิมพ์ข้อมูล หรือรูปภาพของผลิตภัณฑ์ลงบนฟิล์มได้
.
ชั้นที่ 2 ชั้นกลาง จะเป็นประกอบด้วยวัสดุป้องกันการซึมผ่าน เป็นชั้นที่ป้องกันความชื้น แสง และก๊าซ อาจจะทำจากแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ มีลักษณะทึบแสง แผ่นพลาสติก EVOH (แผ่นพลาสติกร่วมระหว่าง Ethylene และ Vinyl alcohol) หรือ ไนลอน (NYLON)
.
ชั้นที่ 3 ด้านในสุด เป็นชั้นที่หนาที่สุด และสัมผัสกับอาหารโดยตรง อาจทำจากพลาสติก Polyethylene (PE) เป็นตัวที่ปิดผนึก ด้วยความร้อน ทนต่อความชื้นหรือสารเคมีบางประเภท หรือพลาสติก CPPRT มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงต่อกระบวนการถนอมอาหาร
.
ด้วยความที่มันมีหลายชั้น และยึดระหวางชั้นด้วยความร้อนหรือกาว (Adhesive) แน่นอนมันมีข้อดีในด้านการถนอมอาหาร กันไม่ให้อากาศเข้า จึงเป็นที่นิยมบรรจุพวกของที่ต้องถนอมเป็นพิเศษ
.
แต่ข้อเสียคือ พลาสติก Multi-layer เหล่านี้ใช้ซ้ำไม่ได้ และอาจจะมีวิธีรีไซเคิลที่ยากและซับซ้อนมากกว่าพลาสติกแบบอื่น เพราะหนึ่งถุงประกอบด้วยพลาสติกหลายชนิดที่มีกระบวนการการรีไซเคิลที่ต่างกัน ดังนั้นถุงหนม ถุงเติมที่ถูกทิ้งเหล่านี้จึงนับว่าเป็นขยะที่มักไม่ถูกนำไปรีไซเคิล และไม่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์
.
แล้วเราจะสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง? ตอนนี้ก็มีบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างบางแห่งที่คอยแปลงขยะถุงหนม ถุงเติม บดและอัดเป็นวัสดุก่อสร้างใหม่ อย่างไม้เทียมที่ใช้ปูพื้น ผนัง ฝ้า เรายังสามารถทำ Eco Brick ได้ด้วยตัวเอง โดยนำพวกถุงหนม ถุงเติม ซองพลาสติกหลายชั้นที่รีไซเคิลและใช้ซ้ำไม่ได้มาทำความสะอาด ตากให้แห้ง และอัดลงไปในขวดน้ำ 0.5 - 2 ลิตร ให้เต็มจนแน่น เสร็จแล้วก็ส่งไปที่โครงการ “ผึ้งน้อยนักสู้” เพื่อนำไปใช้ทำเป็นอิฐ สร้างโรงเรียน สร้างอาคารได้
.
นอกจากนี้ ก็ส่งไปได้ที่ N15 Technology ที่นี่จะรับบริจาคขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ นำไปบดสับเพื่อนำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ถ่านหิน
.
แต่สุดท้าย ทางที่จะลดขยะที่ดีที่สุดคือเลือกบริโภคสิ่งของที่ทำจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งให้น้อยที่สุด หรือก่อนใช้ให้ดูสัญลักษณ์ว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้นั้นรีไซเคิลได้ไหม และนำไปทิ้งให้ถูกถังหลังใช้เสร็จ หรือแยกตามชนิดของเพื่อให้ขยะได้กลับมาเกิดใหม่ ไม่ไปเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และหลุดลอยไปทำร้ายน้องวาฬ และน้องเต่าในทะเล
__
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.setsocialimpact.com/carethewhale
__
#carethewhale
#ขยะล่องหน
#กำจัดคำว่าขยะให้หายไปร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด
ผู้เข้าชม  4238