ร่วมติดตาม... นับถอยหลังประชุม COP26

 

ในช่วงนี้สำหรับใครที่ติดตามข่าวด้านสิ่งแวดล้อม อาจได้ยินชื่อ #COP26 กันหนาหูมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมในปีนี้กำลังจะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะถึง วันนี้เลยขอพา COP26 มาแนะนำตัวให้พวกเราได้รู้จักกัน!

 

 

COP26 คืออะไร?

COP26 คือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบอนุสัญญาของ UNFCCC ที่มีการลงนามตั้งแต่ปี 1992 เพื่อหารือแนวทางที่แต่ละประเทศจะรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่มาของชื่อการประชุม COP นั้นย่อมาจาก Conference of the Parties และตัวเลข 26 คือครั้งที่ 26 นั่นเอง

 

ปีนี้จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ในวันที่ 1-12 พฤศจิกายน โดยเจ้าภาพสหราชอาณาจักรและอิตาลี ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้นำจากประเทศภาคีสมาชิก 197 ประเทศ และบุคคลสำคัญอย่าง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, Sir David Attenborough, Pope Francis และ Greta Thunberg รวมถึงสื่อมวลชนและองค์กรที่สนใจ

 

 

 

COP26 สำคัญแค่ไหน?

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่านี่คือ “A code red for humanity” หรือ การเตือนภัยแบบ 'รหัสแดง' ที่รุนแรงอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะไม่สิ้นสุดลงจนกว่ามนุษย์จะหยุดการปล่อยมลพิษเหล่านี้ได้ 

 

รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในปี 2013 ได้ยืนยันว่า สาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติเหล่านี้เกิดจาก "การกระทำของมนุษย์" เป็นสาเหตุหลัก ดังนั้น การประชุมระดับโลกอย่าง COP26 จึงเป็นความหวังสำคัญเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันทั้งจากประเทศมหาอำนาจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นลำดับต้น ๆ และประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

 

 

การประชุม COP ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ในอดีต การเจรจาครั้งหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ COP21 เมื่อปี 2015 เนื่องจากเป็นการเจรจาที่ทำให้เกิด “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นการสร้างความร่วมมือครั้งแรก ๆ และหากมวลมนุษชาติทำได้ จะเป็นการลดการเผชิญหน้ากับผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

หารือเรื่องอะไรกันใน COP26?

ย้อนกลับไปการประชุม COP25 ที่ผ่านมา ในปีนั้นควรต้องมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้ชัดเจน เนื่องจากปีถัดมาคือ 2020 เป็นปีที่ความตกลงปารีสเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อการประชุมจบลงกลับยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ทำให้การบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสนั้นล่าช้าออกไปอีก! 

 

การประชุม COP26 ในปีนี้ จึงเป็นการพูดคุยติดตามความคืบหน้าจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา เป้าหมายหลัก คือ เร่งสร้างความร่วมมือจากแต่ละประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสให้ได้อย่างจริงจัง เช่น การเลิกใช้ถ่านหิน การส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

 

รวมถึงความร่วมมือในด้านการระดมทุน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วให้คำมั่นว่าจะส่งมอบเงินสนับสนุนอย่างน้อย 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
 

 

ไทยล่ะ? อยู่ตรงไหนในการประชุมนี้?

ในอดีตไทยได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement)

 

ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม COP26 เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี ค.ศ.2030 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังศตวรรษนี้ และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 

 

แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 20–25 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเน้นการดำเนินการใน 3 สาขา ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสียชุมชน

ภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดของไทย คือ "ภาคพลังงาน" กว่า 73% ซึ่งในระดับโลกเราถือเป็นอับดับ 21 ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว ๆ 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลให้มากขึ้น

 

ตอนนี้ไทยยังอยู่ระหว่างร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ เพื่อที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ก่อนที่จะจัดส่งไปยัง UNFCCC ในช่วงการประชุม COP26 

ผลกระทบต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

ไทยได้รับการประเมินว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงเป็นอันดับ 9 ของโลกในช่วงปี 2000-2019 ที่ผ่านมา 

 

สำหรับความเสียหายในอนาคต ภูมิภาคอาเซียนถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และพายุฝนที่รุนแรงมากขึ้น 7% ในทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น! 

 

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วมในปี 2573 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อเกิดสภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุที่รุนแรงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งความปลอดภัยในชีวิตและที่อยู่อาศัย ตามที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าภายในปี 2070 จะมีผู้คนกว่า 5 ล้านรายในกรุงเทพฯ ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมสูง รวมถึงความเสียหายในมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 350,000 ล้านบาทต่อปี จากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว

 

สิ่งเหล่านี้ยิ่งย้ำเตือนว่า การร่วมมือกันแก้ปัญหานั้นเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยควรจับตามองว่าบนเวที COP26 ในปีนี้ว่าแต่ละประเทศจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่จะช่วยยับยั้งภัยคุกคามที่รุนแรงนี้ในอนาคต 


_____

#SETSocailimpact #COP26 
#Carethebear #CaretheWild #Carethewhale
#ClimateCisisActnow!



 

ที่มา : https://ukcop26.org/wp-content/uploads/2021/07/COP26-Explained.pdf

https://www.bbc.com/news/science-environment-56901261

https://www.scotsman.com/news/environment/which-leaders-will-attend-cop26-full-list-of-country-heads-visiting-glasgow-for-climate-change-summit-3392176

https://www.thansettakij.com/economy/497894

 

ผู้เข้าชม  5403