LAND USE: การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มนุษย์ได้ประโยชน์ ธรรมชาติเสียประโยชน์



LAND USE: การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มนุษย์ได้ประโยชน์ ธรรมชาติเสียประโยชน์

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ความหมายของ “กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน” ในที่นี้คือการที่มนุษย์ใช้ที่ดินในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่น พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแร่ หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) โดยเฉพาะก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซอันตรายยิ่งกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ถูกปล่อยเป็นจำนวนมากจากพื้นที่ไร่พืชเชิงเดี่ยว และทุ่งหญ้าปศุสัตว์

 

การใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านี้มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

อันดับแรกคือการนำพื้นที่ป่าไม้มาใช้ทำประโยชน์เหล่านี้เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น ๆ ปัจจุบันมีทั้งการทำพืชไร่ตามภูเขาที่รุกล้ำผืนป่า การใช้พื้นที่บนภูเขาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงการทำลายป่าที่รุนแรงอย่างการทำเหมืองเปิด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเปิดหน้าดินเพื่อขุดหาแร่ จึงต้องตัดต้นไม้ออกหมดเพื่อปราศจากสิ่งคลุมหน้าดิน หรือการดำเนินตามนโยบายของรัฐอย่างการตัดถนนผ่านพื้นที่ป่า การสร้างเขื่อน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ป่าไม้ที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นหายน้อยลงไป

 

กรณีศึกษาที่มีให้เห็นในโลกคือ "ป่าแอมะซอน" ที่ผลิตออกซิเจนให้กับโลกประมาณ 20% และปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่กำลังเผชิญกับปัญหาการตัดไม้ ลักลอบทำเหมืองแร่ บุกรุกถางป่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยองค์กรพิทักษ์ป่าโลกหรือ Global Forest Watch รายงานว่าในปี 2019 เพียงปีเดียว ได้เกิดพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมในผืนป่าแอมะซอนไปแล้วถึง 24,000 ตร.กม. 

 

ผลเสียอีกประการนอกจากเป็นการารุกล้ำผืนป่าคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านั้น เช่น การไถพรวนหรือเผาป่าในภาคเกษตรอันนับเป็นวิธีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมาก เนื่องจากเมื่อหน้าดินถูกทำลายออกไปก็ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทับถมกันอยู่ในดินนั้นถูกปล่อยออกมายังชั้นบรรยากาศ 

 

 

พวกเราทุกคนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้อย่างไร?

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะด้านการบริโภค ภาคการเกษตรในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในปริมาณสูงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป

 

ด้านอุตสาหกรรมปศุสัตว์มีส่วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก มลพิษจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีส่วนทำให้พื้นที่อาศัยในบริเวณนั้น ๆ กลายเป็นพื้นที่ที่เสื่อมโทรมและส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนรอบข้างโดยตรง 

 

 

 

แนวทางการรับมือในอนาคต

จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2558 ได้แสดงข้อมูลว่า ช่วงปี พ.ศ 2543 – 2556 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจาก 106.319 ล้านไร่ เหลือเพียง 102.12 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่าปริมาณป่าไม้ในไทยนั้นลดลงเรื่อย ๆ 

 

ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) นั้นมีการเน้นให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 40% โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% โจทย์สำคัญในการรับมือนี้คือ “ความยั่งยืน” ที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะให้การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นพัฒนาไปควบคู่พร้อมกัน

_______________

 

#SETSocailimpact #COP26 
#Carethebear #CaretheWild #Carethewhale
#ClimateCisisActnow!

ที่มา

https://unfccc.int/sites/default/files/resource/ExecSumm_Land%20Use.pdf

 

https://www.land.com/buying/guide-to-land-use-definitions/

 

https://www.greenpeace.org/thailand/explore/transform/food-system-old/food-industry-impact/

https://www.bbc.com/thai/52852885

https://www.seub.or.th/document/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%84-6/

 

ผู้เข้าชม  5404