เป้าหมาย Net Zero ของไทยไปทางไหน?

 

 




เป้าหมาย Net Zero ของไทยไปทางไหน?

 


หลังเวทีประชุมด้านสิ่งแวดล้อม COP26 ได้จบลงเมื่อวันที่ 1-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ละประเทศได้มีการประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 โดยแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นแบ่งได้เป็น 3  ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่



 

เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย

ในปัจจุบันยังมีปัญหาผืนป่าถูกทำลายทั้งจากไฟไหม้ป่า และการบุกรุกเพื่อประโยชน์อย่างเพาะปลูกไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า และการทำเหมืองแร่ ซึ่งในระดับปัจเจกนั้นประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่าได้โดยการสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงสนับสนุนคนในพื้นที่ให้มีองค์ความรู้ในการจัดการดูแลผืนป่าในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยมาตรการที่เคร่งครัดของภาครัฐเพื่อช่วยป้องกันปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้อันจะนำไปสู่ปัญหาต่อระบบนิเวศได้ โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40% โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีก 15%

 

นอกจากการพัฒนาในภาคป่าไม้แล้ว พื้นที่ในเขตเมืองยังต้องปรับภูมิทัศน์เพื่อตอบรับกับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรมหรืออาคารต่าง ๆ ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ โมเดลอาคารสีเขียว (Green Building) ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพผู้คนและสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างมลพิษและขยะ รวมถึงการเลือกใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าทางเลือกอีกด้วย

 

 

 

ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

ในปัจจุบัน สหภาพยุโรป European Union (EU)  ได้มีการออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมในไทยต้องตื่นตัวอย่างมาก เนื่องจากหากสินค้าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นทางสูงอาจทำให้เราต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) มากขึ้น เนื่องจากเป็นเหมือนการนำเข้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ประเทศปลายทาง โดยมาตรการเหล่านี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศไทยจะต้องปรับตัวไปพร้อม ๆ กับนานาประเทศ

 

ภาคเศรษฐกิจมีการปรับตัวโดยดำเนินการโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ อันต่อยอดรากฐานความเข้มแข็งด้านทรัพยากรชีวภาพหรือผลผลิตเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่าและมุ่งลดปริมาณของเสีย และด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด้อม โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) 4 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

 

 

 

ผลักดันการใช้พลังงานสะอาด

ปัจจุบันมีการสนับสนุนพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้นเพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิมอันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งพลังงานทดแทนในที่นี้มีทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ

 

โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่จะช่วยสนับสนุนด้านการขนส่งตามแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 ดังนั้น ภาคการผลิตยานยนต์ของไทยจึงต้องปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะของบุคลากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกต่อไป

 

นอกจากการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาช่วยทดแทนแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตยังมีการหมุนเวียนวัสดุ เช่น อะลูมิเนียมที่ใช้แล้วนำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้วัสดุใหม่ทั้งหมดในการผลิต

 

ทั้งนี้ แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีหมุดหมายสำคัญที่ได้ตั้งเอาไว้แล้ว แต่ส่วนสำคัญคือการลงมือทำของทุกภาคส่วนทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เข้มงวด ความร่วมมือจากเอกชน และการตระหนักรู้ของประชาชนที่จะช่วยกันผลักดันเป้าหมายนี้

 

 

 

 

 

 

____
#Cop26
#SETSocialImpact
#ClimateCrisisActNow

 

 

ที่มา
https://www.prachachat.net/economy/news-780904

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=aVpURWRrc2lWVTQ9

https://thestandard.co/clean-energy-economic-driving-variables/

https://www.setsustainability.com/libraries/1031/item/-esg-bcg-

https://www.setsustainability.com/libraries/1035/item/european-green-deal

ผู้เข้าชม  11369