Care the Wild เติบโตอย่างยั่งยืน SET จับมือ BAY ปลูกป่าน่าเที่ยวที่บ้านพุตูม

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) เนื่องจากลูกค้าและสังคมมีความคาดหวังสูงขึ้น รวมทั้งกฎกติกาของโลกที่เรียกร้องให้ทุกคนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีความเชื่อว่า องค์กรธุรกิจมีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้แก่โลกได้

องค์กรธุรกิจยุคใหม่สมัยนี้ จึงต้อง “เก่งและดี” มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความยั่งยืน วิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ยังต้องรอบด้าน นอกจากการทำธุรกิจให้เติบโตแล้ว ยังหมายถึงอีก 3 ด้านที่สมดุล คือสิ่งแวดล้อม(การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม) สังคม (การเกื้อกูลสังคมรอบข้าง) และธรรมาภิบาล (บริหารจัดการดีมีความโปร่งใส)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (BAY) สถาบันการเงินชั้นนำของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นพันธมิตรกับ Care the Wild มาตั้งแต่เริ่มต้น(9 ก.ย.2563)  ร่วมโครงการปลูกป้อง “Plant & Protect” ปลูกและปกป้องดูแลต้นไม้ให้กลายเป็นผืนป่าใหญ่ ปลูกป่าต่อเนื่องนับถึงปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว...มาร่วมเรียนรู้ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”  ผ่านบทเรียนของ BAY กันดีกว่า

   

โอกาสและความท้าทายที่รอไม่ได้

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ National Annual Tree Care Day (21 ต.ค.ของทุกปี) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (BAY)  ตลาดหลักทรัพย์ฯ  (SET) และกรมป่าไม้ รวมทั้งพี่น้องชาวชุมชนบ้าน พุตูม ต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี รวมแล้วกว่า 80 คน ร่วมแรงร่วมใจขึ้นเขาไปทำกิจกรรมใส่ปุ๋ยบำรุงต้นไม้และสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น ปลายฝนต้นหนาวแดดแรง หากเสียงหัวเราะและใบหน้าเปื้อนยิ้มของทุกคนสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจจิตอาสาเต็มร้อย ช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างสนุกสนาน

วีระศักดิ์ ศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (BAY) กล่าวว่า เป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ได้กลายเป็นเป้าหมายร่วมของคนทั้งโลกที่มีเดิมพันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะโลกร้อนหรือน้ำท่วมจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกวันนี้ กำลังเป็นวิกฤตที่คุกคามทุกคน

“ธนาคารฯมองเรื่องนี้ในแง่มุมความรับผิดชอบ BAY ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG สิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลที่ดี จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของเรา”

องค์กรยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพราะการอยู่รอดหรือยั่งยืนอย่างแท้จริงได้  ต้องมีรากฐานสภาวะแวดล้อมที่ดี คุณปรับตัวได้ คุณเอาตัวรอดได้ แต่ที่สุดแล้วคุณอยู่คนเดียวไม่ได้ สำหรับ BAY การเดินทางสู่เป้าหมายความยั่งยืนคือการทำธุรกิจที่สอดคล้องอย่างเป็นระบบระหว่างเศรษฐกิจ (ธุรกิจเติบโตมีกำไร) กับ ESG ที่ไปด้วยกัน

การปลูกป่าที่ป่าชุมชนบ้านพุตูม ต.ห้วยลึก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้สายงาน ESG ของธนาคารฯ โดยผืนป่าแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้เสริมรวม  15 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นป่าเต็งรัง ชนิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่มีสัก หว้า สะเดา มะขามป้อม ประดู่ป่า แดง พะยูง เสลาและคูน เป็นต้น นับเป็นผืนป่าแห่งที่ 8 ในโครงการ Care the Wild ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ธนาคารฯจับมือกับ Care the Wild ตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเห็นในความมุ่งมั่นเพื่อสังคมของตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือเห็นความสำคัญของระบบ Collaboration Platform กลไกการระดมทุนและความร่วมมือที่ออกแบบมาภายใต้เงื่อนไขที่ทำได้จริง ซึ่งจะทำให้การปลูกป่าได้ผล”

องค์กรธุรกิจแม้มีความพร้อม มีความคล่องตัว ตลอดจนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ถ้าขาดระบบหรือกลไกที่เอื้ออำนวย พลังอาจไม่แข็งแกร่งพอจะขับเคลื่อน สำหรับ Collaboration Platform เป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มที่ออกแบบให้รองรับการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในอันที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนโดยการสร้างพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างภาวะสมดุลให้สภาพภูมิอากาศ

แนวทางคือการปลูกต้นไม้ใหม่ การปลูกต้นไม้เสริม และการส่งเสริมดูแลต้นไม้ ภายใต้แนวคิด “ปลูกป้อง Plant &Protect”  หมายถึง ปลูกและดูแลปกป้องต้นไม้ที่ปลูกจนกว่าจะเติบโตกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ผู้สนใจร่วม “ทีมปลูกป้อง” เริ่มจากการเลือกพื้นที่ป่าที่ต้องการ จากนั้นบริจาคเงินเป็นทุนต้นละ 220 บาท และดูแลไม้ที่ปลูกได้ 10 ปี ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100 % 

  

  

   

ขยายแนวป่า Care the Wild

นงรัก งามวิทย์โรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า Care the Wild ในวันนี้ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2563 ถึงปัจจุบันโครงการฯเดินหน้าขยายแนวป่าไปแล้วถึง 10 แห่ง ครอบคลุม 9 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมพื้นที่ 312.5 ไร่  ต้นไม้ที่ปลูกไปแล้วรวม  62,500 ต้น สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 562,500  กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ได้เข้าร่วมฟื้นฟูและสนับสนุนการสร้างผืนป่ากับ  Care the Wild ตั้งแต่แรกดำเนินโครงการฯ ขอขอบคุณสำหรับสามปีที่ผ่านมาซึ่งได้มุ่งมั่นฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง ทำให้เห็นได้ถึงความตั้งใจของธนาคารฯที่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม

ในปีแรก ธนาคารฯปลูกป่า 2,000 ต้นบนพื้นที่ 10 ไร่ ที่ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน อ.เมือง จ.ราชบุรี ปีต่อมาปลูกป่า 2,000 ต้น ณ แปลงปลูกที่ 1 ป่าชุมชนบ้านพุตูม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี พื้นที่ 10 ไร่ โดยเป็นการปลูกเสริมในพื้นที่เดิม ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 16  ไร่ ส่วนปีนี้ขยายเป็นแปลงปลูกที่ 2 เพิ่มอีก 2,000 ต้น พื้นที่ 10 ไร่ ทั้งนี้ เป็นการปลูกเสริมในป่าเดิม ทำให้พื้นที่ปลูกกว้างขวางออกไปถึง 15 ไร่ รวมแล้วที่บ้านพุตูมมีป่าปลูกใหม่ถึง 31 ไร่แล้ว

   

    

  

การท่องเที่ยวยั่งยืน  ปักหมุดบ้านลาด ป่าชุมชนบ้านพุตูม

สัจจะ ทองนิล  ผู้นำกลุ่มคนรักษ์เขาแด่น และกลุ่ม “เยาวชนคนรักษ์ป่า” เล่าว่า ป่าบริเวณนี้แต่เดิมแห้งแล้งมาก หากปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากได้รับพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำผาน้ำหยดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบกับภาคธุรกิจธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามาสนับสนุนปลูกป่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

สัจจะเล่าว่า ฝายชะลอน้ำที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้มาร่วมสร้างไว้จำนวนมากนับได้กว่า 250  แห่ง จากป่าสภาพแห้งแล้ง เดี๋ยวนี้จึงมีแต่ความชุ่มชื้น ก็เพราะฝายช่วยชะลอน้ำ ชะลอตะกอนดิน ชะลอความชุ่มชื้น ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีความเขียวชอุ่มกลับขึ้นมาตามลำดับ รวมทั้งช่วยแพร่เมล็ดพันธุ์ที่ไหลไปกับสายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ 

“ป่าในวันนี้เป็นผลจากการร่วมด้วยช่วยกันของชาวชุมชนและผู้สนับสนุนที่เห็นร่วมกันในคุณค่าป่า  โดย 3 ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนได้เห็นว่า สิ่งที่ได้ลงมือทำ มันคุ้มค่า มันคุ้มเหนื่อย เพราะเมื่อป่ากลับมา เราไม่ได้แค่ป่า แต่เราได้อีกหลายอย่างจากป่า ทั้งเป็นแหล่งอาหารแหล่งเศรษฐกิจ สร้างเสริมวิสาหกิจ ต่อยอดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน การที่ธนาคารฯเข้ามาสนับสนุนก็เท่ากับเข้ามาช่วยจัดระบบนิเวศป่าให้สมบูรณ์ รองรับการท่องเที่ยวได้อย่างดี”

ชาวชุมชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มองว่าที่นี่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรีได้ เพราะที่นี่มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง อากาศดี มีอ่างเก็บน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ มีลานเครื่องร่อน มีแหล่งธรรมชาติที่มีทัศนียภาพสวยงาม ป่าของเรามีมีศักยภาพ ขณะเดียวกันก็ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ถ้ำเขาหลวง เป็นต้น

มองในมุมของการท่องเที่ยว บ้านพุตูมมีศักยภาพสูง สามารถต่อยอดและใช้จุดแข็งของพื้นที่ป่าชุมชนในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่สำคัญต้องจัดการท่องเที่ยวด้วยคนในชุมชน ถ้าเรามีพื้นฐานในเรื่องความยั่งยืน อย่างไรก็ไปต่อได้ สุดท้ายการท่องเที่ยวจะไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการพักผ่อนหย่อนใจหรือสร้างเศรษฐกิจ แต่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนด้วย

  

  

 

เมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึก

นันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวว่า ชาวชุมชนแม้จะเป็นหน่วยบุคคลตัวเล็ก ๆ แต่สิ่งที่ทุกคนทำให้ป่าคือความยิ่งใหญ่ นั่นคือการดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าชุมชน ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์  การช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และการเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามนโยบายรัฐบาล  (Offset Carbon Neutral Net Zero)

สำหรับป่าชุมชนในไทย ปัจจุบันมี 12,017 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมเนื้อที่ถึง 6.6 ล้านไร่ การฟื้นฟูสภาพป่าจึงทำได้ภายใต้ข้อจำกัดทั้งของภาครัฐและของชุมชนเอง อย่างไรก็ตาม Care the Wild มีแพลตฟอร์มที่ดีในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีกลไกในการระดมทุนโดยภาคธุรกิจแล้ว ก็มีกรมป่าไม้เป็นองค์กรหลักในการประสานงานและเชื่อมโยงชุมชน นี่คือโมเดลแห่งความสำเร็จ

“โมเดลปลูกป่าที่เพิ่มพื้นที่ป่าได้จริง ที่สำคัญคือการเป็นตัวอย่างด้านแนวคิดเรื่องการอยู่กับป่าอยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้จากป่า โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจิตสำนึก”

 จิตสำนึกรักษ์ป่า เมล็ดพันธุ์ที่ต้องหว่านเพาะ เริ่มจากการตระหนักรู้ในความสำคัญของป่าและธรรมชาติ กระบวนการเรียนรู้ที่เริ่มจากตัวตนภายในของพวกเราทุกคน ถ้าเห็นประโยชน์ร่วมกันได้ก็ถือว่าเริ่มก้าวแรก ป่าเอื้อประโยชน์มากมายต่อเรา ทั้งเป็นปอด เป็นคลังอาหาร เป็นคลังเศรษฐกิจ ต่อยอดเศรษฐกิจให้ชุมชน เชื่อมโยงโมเดลใหม่ ๆ อย่าง BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว รูปแบบที่จะพัฒนาต่อยอดไปได้อีกไกลจากจุดแข็งของประเทศไทยนั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

Care the Wild การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทุกคนต้องช่วยกัน เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มก็มีแล้ว ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม อีกประการหนึ่งในฐานะพลเมืองโลกที่พันธกิจหลักของทุกคนก็คือ การช่วยกันคนละไม้คนละมือ ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมสังคมที่เราอยู่ และร่วมกันส่งต่อทรัพยากรที่สมบูรณ์ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติแก่ลูกหลาน...เพื่อโลกที่ยั่งยืน 

   ------------------------------------------------

ผู้เข้าชม  595