Climate Change Climate Care Collaboration รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน

Climate Change Climate Care Collaboration รวมพลังบวกกู้วิกฤตโลกร้อน

จากแนวคิดสู่การรวมพลัง ปฏิบัติ ต่อยอด และขยายผล
เพื่อเป้าหมายเดียวกัน สร้างสมดุลโลก แก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน

 

 

    ถ้าย้อนกลับไปถามคนรุ่นปู่ย่าตายายในอดีตว่า ‘พีเอ็ม 2.5’ หรือ ‘ไมโครพลาสติก’ คืออะไร คงไม่มีใครรู้จัก เพราะตอนนั้นอากาศยังคงบริสุทธิ์ พลาสติกยังไม่มีให้ใช้มากนัก แต่เมื่อความเจริญเข้ามาแทนที่ ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต้องการสะดวกสบายของมนุษย์ แหล่งธรรมชาติหรือพื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง สร้างถนน สร้างโรงงานอุตสาหกรรม เกิดเป็นแหล่งผลิตมลพิษขนาดใหญ่ การแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร การเผาทำลายซากพืช กิจกรรมของมนุษย์ล้วนเป็นตัวฉุดความสมดุลโลกให้พังพินาศ กลายเป็นวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน

   
    รู้ไหมว่า ประเทศไทยมีขยะหรือของเสียเกิดขึ้นปีละกว่า 27 ล้านตัน ในจำนวนนี้ ขยะกว่า 4 ล้านตัน ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง นำไปสู่ปัญหาอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสียซึ่งเป็นแหล่งพาหะนำโรค ขยะหลุดสู่ท้องทะเล ปัจจุบัน ขยะพลาสติกครองแชมป์ขยะทะเลไทยไปแล้ว

   
     มนุษย์จะอยู่รอดได้อย่างไร ? หากทุกคนเมินเฉยกับวิกฤตนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่เป็นวาระเร่งด่วนของทุกประเทศในเวลานี้ ซึ่งในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดทุน เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ในฐานะแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการทุกขนาด และเป็นแหล่งบริหารเงินออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินของชีวิตคนไทย ด้วยความมุ่งหวังที่อยากสร้าง ‘ความสมดุล’ ให้กับทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาก้าวไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน จึงเกิดการรวมพลังกับเครือข่ายพันธมิตรสร้างสรรค์โครงการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นถึง 3 โครงการด้วยกัน


    เริ่มกันที่โครงการแรก Care the Bear: Change the Climate Change’ ที่มีพี่หมีขั้วโลกอบอุ่น ใจดี มาทำหน้าที่ปลุกพลังบวก สร้างปรากฏการณ์ ลด-โลก-ร้อน ด้วยการเชิญชวนหน่วยงานในตลาดทุนและองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการประชุมและสัมมนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ‘Eco-Event’ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีระบบตรวจวัดและคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรม ผลที่ได้สามารถนำไปเปิดเผยข้อมูลทั้งในรายงานประจำปี (One Report) และรายงานความยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย

   
    Eco-Event ทำได้ไม่ยาก และยังสามารถต่อยอดมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเดินทางด้วยรถสาธารณะ   ลดใช้กระดาษและพลาสติก ไม่ใช้โฟม ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เลือกใช้วัสดุตกแต่งที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้     ลดปริมาณขยะด้วยการไม่กินทิ้งกินขว้าง ตักอาหารแต่พอดี เป็นต้น

 

   
    ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ ในปี 2561 ตอนนี้มีองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมแล้ว 178 องค์กร สามารถลดปริมาณคาร์บอนฟุต พริ้นท์แล้ว 10,783 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้ จำนวน 1,198,136 ต้น หรือเทียบเท่ากับการดูดซับ CO2/ปี ของป่าสมบูรณ์ จำนวน 10,783 ไร่

 

    การทำงานสานต่อผ่านโครงการ Care the Whale: ขยะล่องหน’ มีน้องวาฬเป็นตัวแทนของระบบนิเวศที่รอให้มนุษย์​เข้ามาแก้ไขและสร้างความสมดุลให้กับโลกใบนี้ ถ้าใครใช้เส้นทางถนนรัชดาภิเษก คงจะเคยเห็น “ปฏิมากรรมวาฬ” ตัวโตทำมาจากวัสดุรีไซเคิลตั้งตระหง่านอยู่หน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน้าอาคารองค์กรพันธมิตรหลาย ๆ แห่ง      ซึ่งน้องวาฬแต่ละตัวจะมีแนวคิดและเรื่องราวที่แตกต่างกันไป เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนตระหนักถึง ‘ขยะ’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ Care the Whale: ขยะล่องหน’ มีแนวคิดว่า “กำจัดขยะให้หายไป ร่วมหาทางใช้ให้ถึงที่สุด” หรือนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ลดการสร้างขยะจากต้นทาง และผลักดันการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง หากจัดการขยะได้อย่างถูกต้อง มลพิษจากขยะก็จะลดลง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดปริมาณขยะพลาสติกติดเชื้ออย่างมหาศาล

 

 

    พื้นที่นำร่องของโครงการ Climate Action Collaboration @Ratchada District เกิดจากการจับมือกันของผู้ประกอบการและภาครัฐในพื้นที่ชุมชนย่านรัชดากว่า 14 ราย วางระบบการคัดแยกขยะในอาคาร มีศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เส้นทาง Zero Waste to land fill และมีการสร้างเครื่องมือกลาง Care the Whale Calculator ขึ้นมา เพื่อช่วยในการออกแบบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การวางแผน เก็บข้อมูล ประเมินผล และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง
 

     ปัจจุบันโครงการ Care the Whale: ขยะล่องหน’ มีพันธมิตรรวมกว่า 40 องค์กร ขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพ ร่วมลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะได้ถึง 10,218 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับ CO2/ปี ของต้นไม้ จำนวน 1,135,370 ต้น
 

     และโครงการล่าสุด Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect’ นำทัพปลูกป่าด้วยช้างรักษ์ป่า ‘พี่ปลูกป้อง’สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่จะมาเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมรับมือกับภาวะโลกร้อน ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้ป่า โดยมีชุมชนเป็นผู้ดูแลผืนป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศของไทย หากสนใจสามารถเข้าร่วม ‘ทีมปลูกป้อง Plant & Protect’ ได้ ด้วยการเลือกพื้นที่ป่าที่ต้องการปลูก ร่วมสมทบทุนในการปลูก และติดตามการเติบโตของไม้ที่ปลูก ด้วยหลักธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล ผ่านแอปพลิเคชัน Care the Wild

 

 

    แม้โครงการ Care the Wild’ จะเป็นน้องใหม่ แต่คาดว่าในช่วงเริ่มต้น ผลลัพธ์จากโครงการนี้จะสามารถช่วยลดมลพิษได้ โดยมีเป้าหมายการปลูกต้นไม้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ หรือ 100,000 ต้น ภายใน 1 ปี เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
 

    จากจุดเริ่มต้นการเปิดตัวโครงการฯ เมื่อ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ในปี 2564 นี้ ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด 19  ทุกชุมชนเข้มแข็งที่ทำหน้าที่ดูแลป่าชุมชนและใช้ประโยชน์จากป่า ยังคงเดินหน้ากิจกรรมปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูปลูก (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม) 30,000 ต้น ซึ่งสนับสนุนจาก 8 องค์กรภาคธุรกิจ ร่วมระดมทุนกว่า 5 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างแหล่งอาหาร และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ป่าชุมชน 145 ไร่ ใน 5 จังหวัด  ทั้งผืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ (จ.เชียงราย และน่าน) ภาคกลาง (จ.เพชรบุรี และราชบุรี) และภาคอีสาน (จ.มหาสารคาม) รวมทั้งติดตามการเติบโตร่วมกับกรมป่าไม้เพื่อให้ต้นไม้มีอัตรารอด 100% ตามเป้าหมายโครงการฯ และยังคงเดินหน้าระดมทุนเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง
 

    การขับเคลื่อนทุกโครงการเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการแก้ปัญหาโลกร้อน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งมั่นเป็นสื่อกลางผสานพลังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับองค์กรถึงปัจเจกบุคคลเพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเกิดความสมดุลที่ยั่งยืน
 

    พบกับทิปส์ลดโลกร้อนดี ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ไปกับพี่หมี น้องวาฬ และพี่ปลูกป้อง พร้อมข่าวสารต่าง ๆ ของทั้ง 3โครงการ ได้ที่ Facebook SET Social Impact หรือเว็บไซต์ www.setsocialimpact.com
 

______
ที่มา: สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563 www.pcd.go.th/pcd_news/11873/

โครงการ Care the Bear, Care the Whale และ Care the Wild www.setsocialimpact.com

 

 

ผู้เข้าชม  2345