SE Gym Showcase : เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

SET Social Impact มุ่งพัฒนา SE เข้มแข็ง สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม


มีคนพิการที่รอการช่วยเหลืออีกมากมาย อยากให้มีงานทำ เราพยายามที่จะช่วยคนพิการให้มีอาชีพอย่างมั่นคง ตามเจตนารมณ์ของ “คุณพ่อเรย์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ” เราตั้งใจที่จะเปลี่ยนวิธีการหารายได้สนับสนุนองค์กร โดยปกติพึ่งแต่เงินบริจาค พยายามสร้างความยั่งยืน ด้วยการทำธุรกิจเพื่อสังคม

 

“เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม” พัฒนาผู้พิการ สร้างอาชีพหลากหลาย ให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาเงินบริจาค

SET Social Impact Platform  แนะนำ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) SE เข้มแข็งผ่านข้อมูลเชิงลึกอัพเดทการทำงานและบอกเล่าผ่าน founder ซึ่งถูกคัดเลือกเข้าร่วมรับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจโดย “โค้ช” ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  6 รุ่น ในโครงการ SET Social Impact GYM วันนี้ผู้ประกอบการได้มีการทำงานสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่เติมเต็มพลังให้กับสังคมไทยในหลากหลายมิติ

“เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม”  ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ตั้งอยู่ที่เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพที่หลากหลายเพื่อผู้พิการ ทั้งการทำงานร่วมกับภาคเอกชนจ้างงานผู้พิการเพื่อทำหน้าที่ Call Center ตลอดจนการให้บริการศูนย์ประชุม ที่พัก และร้านเบเกอรี่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ที่เหมาะกับผู้พิการ ลักษณะต่าง ๆ ให้ได้มีงานทำและมีรายได้เลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวในระยะยาว

มูลนิธิพระมหาไถ่ บ้านแห่งความหวังเพื่อการพัฒนาคนพิการ: จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคนพิการมาจากการก่อตั้งโรงเรียนพระอาชีวะมหาไถ่ โดยคุณพ่อเรย์ บาทหลวง เรย์มอน อัลลีน เบรนนัน ตั้งแต่ปี 2530 เพื่อจัดการเรียนการสอนฝึกอบรมอาชีพที่มั่นคงให้ผู้พิการ เช่น งานโปรแกรมเมอร์  และงานอาชีวะอื่น ๆ ก่อนที่จะค่อย ๆ พัฒนามาสู่การจัดตั้งมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ทำงานด้านการช่วยเหลือคนพิการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานย่อยในสังกัดอีก 7 หน่วย เพื่อให้การทำงานครบวงจร มีทั้งสถาบันการศึกษา สายด่วน 1479 เพื่อช่วยเหลือคนพิการ รวมถึงเรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มี มานพ  เอี่ยมสอาด ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 ของโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการในปัจจุบัน

Call Center สร้างรายได้ให้องค์กรและผู้พิการ:  การดำเนินงานในรูปแบบของมูลนิธิมักพึ่งพาเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นหลัก ทว่า เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้พิการอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยปัจจุบัน รายได้หลักประมาณปีละกว่า 10 ล้านบาท จะมาจากการร่วมมือกับบริษัทเอกชนกว่า 10 บริษัท อาทิ กรุงไทยแอกซ่า AIS ไทวัสดุ ในรูปแบบของ Outsource จ้างงานผู้พิการรวมประมาณ 140 คน ทำหน้าที่ Call Center ให้ข้อมูลลูกค้า เช่น การแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาชำระเบี้ยประกัน หรือตรวจสอบการเดินทางของรถขนส่งน้ำมันไม่ให้ออกนอกเส้นทาง

นอกจากนี้ ยังมีงานบริการในส่วนของศูนย์ประชุม และร้านเบเกอรี่ ที่เหมาะกับผู้พิการประเภทต่าง ๆ โดยผู้ที่มาทำงานร่วมกับ เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม อาจเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันในสังกัดมูลนิธิ และยังเปิดรับผู้พิการทั่วไปที่ต้องการมีงานทำ

สร้างอาชีพให้ผู้ว่างงาน ขาดโอกาสในสังคม:  ปัจจุบัน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องจ้างงานคนพิการในสัดส่วน 100:1 กล่าวคือ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีลูกจ้างหรือพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมีพนักงานที่เป็นผู้พิการอย่างน้อย 1 คน แต่ก็ยังมีผู้พิการว่างงานอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเพราะขาดโอกาสในการศึกษา ขาดโอกาสทางสังคม และตามมาด้วยการขาดช่องทางในการหางาน

สำหรับการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งงานให้กับผู้พิการของเรย์วิสาหกิจเพื่อสังคมจะพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น ผู้พิการทางสายตา ซึ่งมักจะมีทักษะในการพูดสื่อสารได้ดี ก็จะทำหน้าที่ Call Center ส่วนผู้พิการทางการได้ยินสามารถทำงานด้านการบริการ การทำความสะอาด หรืองานครัวได้ ในขณะที่ผู้พิการแขนขาอาจสามารถฝึกฝนทักษะงานช่าง หรือโปรแกรมเมอร์ เพื่อทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือพิวเตอร์ได้

ความรู้คือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ: ผู้จัดการ เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคมกล่าวถึง การได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ช่วยเพิ่มพูนความรู้ในด้านบัญชี การตลาด สร้างเครือข่าย ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมธุรกิจเพื่อสังคม ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากตลาดทุน ที่สามารถนำมาปรับใช้ และอาจมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในอนาคต

วิงวอนหน่วยงานรัฐสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม: มานพ  เอี่ยมสอาด ยังมองว่า แม้ประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ในทางปฏิบัติคนทั่วไปยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมเท่าใดนัก และยังขาดการส่งเสริมอย่างจริงจังจากหน่วยงานของรัฐ

อย่างการให้แต้มต่อหรือสิทธิประโยชน์ เพื่อให้กิจการเพื่อสังคมสามารถสร้างรายได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างกำไรจากการดำเนินงาน เติบโตเป็นธุรกิจที่มั่นคง และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ในระยะยาว เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีชนิดต่าง ๆ หรือการให้สิทธิพิเศษ พิจารณาจัดซื้อจัดจ้างวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามาดำเนินงานในกิจการของรัฐ ก็จะสามารถช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ภาคธุรกิจ และผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com ..................................................................

ผู้เข้าชม  170