SE Gym Showcase : Ethnica

SET Social Impact มุ่งพัฒนา SE เข้มแข็ง สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม


วัฒนธรรมชนเผ่ามีมานานมาก แล้วมันยังอยู่ในทุก ๆ ที่ทั่วโลก เช่น แอฟริกา อเมริกาใต้ ของไทยเราก็มี เราก็สามารถทำให้โดดเด่นขึ้นมาได้ อยู่ใน Trend ตลาดโลก ภาพจำระดับประเทศ อย่างร่ม อย่างชาวเขา มีคนช่วยโปรโมทให้อยู่แล้ว เราทำให้มันใช้ได้ ให้มันเหมาะกับความต้องการก็น่าจะขายได้อยู่แล้ว” 

“การทำ SE (Social Enterprise) มีความฝันและมีความหวังว่า คนจะ in กับเรื่องสังคมมาก ๆ  แล้วเราก็ไม่ได้คำนึงถึง การอยู่รอดทางธุรกิจ ซึ่งพี่ ๆ โค้ชที่ SET ช่วยดึงกลับมาสู่โลกความเป็นจริงในการทำธุรกิจ ช่วยเสริมตรงนี้ ทำให้ความฝันกับความเป็นจริงมันมาบรรจบกันได้ สังคมก็ไปได้ ธุรกิจก็ไปได้ ถึงจะยั่งยืนจริง ๆ”  

 

Ethnica แรงบันดาลใจจากวิถีชนเผ่า สู่สินค้าหัตถกรรมยุคใหม่ ออกแบบใช้งานตามยุคสมัย  สร้างรายได้ให้กลุ่มชาติพันธุ์

SET Social Impact Platform  แนะนำ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) SE เข้มแข็งผ่านข้อมูลเชิงลึกอัพเดทการทำงานและบอกเล่าผ่าน founder ซึ่งถูกคัดเลือกเข้าร่วมรับการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจโดย “โค้ช” ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในโครงการ SET Social Impact GYM วันนี้ผู้ประกอบการได้มีการทำงานสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่เติมเต็มพลังให้กับสังคมไทยในหลากหลายมิติ

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โอเรียนทอล คิงดอม ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในจังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบ ควบคุมการผลิต และทำตลาด สินค้าหัตถกรรม ภายใต้แบรนด์ Ethnica (เอธนิกา) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมของชนเผ่าในการทอผ้าลวดลายต่าง ๆ  ประสานเข้ากับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานยุคใหม่ ออกมาเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน และยังช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานฝีมือ  

Ethnica สื่อความหมายด้วยโลโก้ “ตาแหลว” : ตาแหลว เป็นเครื่องรางในงานบุญ หรืองานพิธีเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ตามความเชื่อโบราณของชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย ที่ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ชัยวัฒน์ เดชเกิด เขมิยา สิงห์ลอ และ ยุจเรศ สมนา เพื่อนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาด้วยกัน เลือกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกัน ในนาม Ethnica ชื่อแบรนด์ที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับการผสมผสานและเชิดชูวัฒนธรรมชนเผ่า ที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แสดงออกผ่านทางสีสัน และลวดลายในงานหัตถกรรม โดยทั้ง 3 คนจะแบ่งงานกันตามความถนัดที่ต่างกันในด้านการผลิต การตลาด และการออกแบบ

ทำ “วิถี” ให้เป็น “วิธี”: แบรนด์ Ethnica มีเป้าหมายที่จะเป็นสื่อกลางในการนำเสนอสินค้าหัตถกรรม ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่า ให้กับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ในรูปแบบของสินค้าที่ดูทันสมัยใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน จึงเข้าไปทำงานร่วมกับ ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดลำพูน ชาวลัวะในจังหวัดเชียงใหม่ และชาวอาข่าในจังหวัดเชียงราย ปรับกระบวนการผลิตจากวิธีการพื้นบ้านแบบดั้งเดิมที่ชาวเขาคุ้นเคย ให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน เช่น การกำหนดขนาดความยาวด้วยหน่วยวัดแบบสากล ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวและทำงานร่วมกันนานเกือบ 2 ปี กว่าจะได้ออกมาเป็นสินค้าที่เริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2558

วิถีเกษตรยังคงอยู่ ควบคู่กับรายได้จากหัตถกรรม:  ปัจจุบันเผ่าในเครือข่ายการผลิตของ Ethnica ประกอบไปด้วยสมาชิกใน 7 ชุมชน รวมประมาณ 250 คน แบ่งกันทำงานในส่วนที่ตนเองถนัดตามที่ Ethnica วางแผนให้ เช่น การย้อมสี การทอผ้า และการปักลาย ก่อนจะนำมาประกอบรวมกันเป็นสินค้าในขั้นตอนสุดท้าย เดิมชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตร ที่เป็นภารกิจหลัก มาทำงานหัตถกรรมเพื่อใช้สอยกันเองในครัวเรือน แต่การเข้ามาของ Ethnica ทำให้ชนเผ่าต่าง ๆ มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลัก คือราวช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน กำลังการผลิตรวมของ Ethnica สามารถทำได้ถึง 1,000 ชิ้น ในขณะที่ยอดขายในปัจจุบันอยู่ที่ราวเดือนละ 2-3 แสนบาท

เน้นเจาะตลาดต่างชาติที่สนใจงานฝีมือสินค้าหลักของแบรนด์ Ethnica ในปัจจุบันมีด้วยกัน  2 Collection หลัก คือ The Founder และ Rice Cycle ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของกระเป๋า สำหรับการใช้งานแบบต่าง ๆ วางจำหน่ายตามแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย เช่น ไอคอนสยาม และคิงพาวเวอร์ ตลอดจนช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่รวมถึง Etsy.com แหล่งรวมสินค้างาน Handmade ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในยุโรป และ Pinkoi.com ร้านค้าออนไลน์ในไต้หวัน เป็นต้น

Ethnica เชื่อมั่นในศักยภาพของวัฒนธรรมชนเผ่าต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก ว่าเป็นสิ่งที่สามารถนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยและสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เช่นเดียวกับกลุ่มชาวเขาในประเทศไทย ที่เป็นสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเสมอมา

SET ช่วยให้ธุรกิจและการทำเพื่อสังคมไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน: Ethnica มองว่า การต่อยอดความคิด หรือทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าที่เป็นรูปธรรม มีมูลค่า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ การแนะแนวทางในการสร้างสรรค์งานออกแบบ หรือการทำธุรกิจ เหมือนเช่นโครงการอบรมผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ช่วยเสริมทักษะ แนวคิดและประสบการณ์ในการทำธุรกิจในมุมมองที่หลากหลาย ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กิจการเพื่อสังคม ที่ทำให้เรื่องของการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมและการทำธุรกิจ เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มหลากหลายช่องทางสร้างรายได้ต่อเนื่อง: นอกจากการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อนำไปเป็นของที่ระลึกในช่วงเทศกาลต่าง ๆ แล้ว Ethnica ยังคงพัฒนา Collection ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและทางเลือกให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับพันธมิตรในการทำโครงการพิเศษ เช่น การทำของที่ระลึกสำหรับ Fanclub ของ Influencer ต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าในรูปแบบของ Limited Edition จำนวนจำกัด ตลอดจนการรับผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อให้ได้สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าที่ชื่นชอบงานหัตถกรรม พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับชนเผ่าในระดับสูงไปพร้อมกัน

ภาคธุรกิจ และผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com หรืออุดหนุนสินค้าของ Ethnica ได้ที่ https://www.facebook.com/ethnica.thailand

ผู้เข้าชม  114